การจัดการตามแนวมนุษยสัมพันธ์

2.  การจัดการตามแนวมนุษยสัมพันธ์ (Human Relations Approach)  การจัดการตามแนวมนุษยสัมพันธ์นี้ ได้รับความสนใจมากในตอนปลายศตวรรษที่ 19  ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ  บรรดานักจิตวิทยา  สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา  ได้ให้ความสนใจศึกษาเกี่ยวกับสภาพการทำงานของคนงานในแง่ต่าง ๆ  โดยเฉพาะหลังจากที่ได้มีการตื่นตัวในเรื่องการจัดการแบบวิทยาศาสตร์  ซึ่งเป็นวิธีการจัดการ ที่มุ่งพิจารณาในเรื่องเหตุและผลของการทำงานเป็นสำคัญ  ส่วนองค์ประกอบในด้านบุคคล  ซึ่งแท้จริงแล้วมีความสัมพันธ์อย่างยิ่ง ต่อการผลิตกลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร  แม้จะมีการศึกษาค้นคว้าบ้าง  แต่ก็เป็นเพียงเฉพาะในส่วนของปัจเจกชน (Individual) เท่านั้น  มิได้กระทำในรูปของกลุ่มสังคม (Social group) ระยะหลังนี้ ได้มีกลุ่มนักวิชาการ ได้ให้ความสนใจศึกษาเกี่ยวกับองค์ประกอบในด้านบุคคลในการผลิตมากขึ้น  กลุ่มนี้ได้ศึกษาการจัดการตามแนวความคิดใหม่ที่เรียกว่า Human Relations Approach

การจัดการตามแนวมนุษยสัมพันธ์นี้  ได้มุ่งพิจารณาในเรื่องความสำคัญของบุคคล  ในฐานะเป็นองค์ประกอบของการจัดการ ยิ่งกว่าการศึกษาในเรื่องวิธีการจัดการตามแบบวิทยาศาสตร์  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ  พิจารณาบุคคลในลักษณะที่เป็นพลวัต (Dynamic) แทนที่จะพิจารณาในลักษณะเป็นเพียงองค์ประกอบทางกายภาพ (Physical)  ขององค์การ  ทั้งยังได้ย้ำในเรื่องความสำคัญของบุคคลเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านการบริหารงานบุคคลและการบำรุงรักษาทรัพยากรบุคคล  ผลของการศึกษาค้นคว้า ด้านการจัดการตามแนวมนุษยสัมพันธ์ที่ได้รับการยกย่องมาก คือ การศึกษาทดลองที่เรียกว่า “Hawthorne Experiment”  โดยมีศาสตราจารย์ George Elton Mayo เป็นหัวหน้าคณะในการศึกษาค้นคว้าทดลอง

การศึกษาค้นคว้าทดลองที่ Hawthorne นี้ได้กระทำระหว่างปี ค.ศ.1927-1932 ที่ Western Electric Company  อันเป็นโรงงานทำอุปกรณ์สาขาของ The Bell Telephone Company บริษัทที่ทำการทดลองนี้ตั้งอยู่ ณ เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา  มีคนงานประมาณ 4,000 คน  การทดลองครั้งนี้มีศาสตราจารย์ Elton Mayo, Head Department of Industrial Relations Research of the Graduate School of Business Administration, Harvard University ร่วมด้วยศาสตราจารย์ J.F. Roethlisberger และ Wallacr Brett Donham ซึ่งเป็นศาสตราจารย์วิชามนุษย์สัมพันธ์แห่งคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด  นอกจากนี้ยังมีผู้ร่วมงานที่สำคัญอีกท่านหนึ่ง คือ ศาสตราจารย์ C.E. Turner, Department of Public Health, Massachusetts Institute of Technology (MIT.)  การศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ใช้คนงานของบริษัท Western Electric ทั้งหมดมีจำนวนถึง 4,000 คน