วิธีประสานสัมพันธ์ในการบริหารคน

การสร้างสัมพันธภาพเชิงบริหารที่ได้ประสิทธิผล

ท่านเคยอยากทราบหรือไม่ว่า บุคคลที่ท่านกำลังปฎิสัมพันธ์ด้วยนั้น กำลังคิดอย่างไรเกี่ยวกับตัวท่าน? ความคิดเหล่านั้นมีค่ามากต่อท่านในฐานะ เป็นนักบริหารด้วยเหตุผลหลายอย่างด้วยกัน และอาจจะมีเหตุผลดี ๆ อีกหลายอย่างเช่นกันที่ว่าท่านไม่สมควรที่จะต้องรู้ข้อคิดต่าง ๆ เหล่านั้น

“ช่างไร้สมรรถภาพเสียจริง เขาพยายามจัดให้ฉันทำงานที่เขาควรทำเองอีกแล้ว”

“ยิ้มกวนแบบนี้อีกแล้ว เธอดูท่าไม่สนใจฉันเท่าไหร่”

“เขาทำให้ฉันรู้สึกโง่เง่า และไร้ประโยชน์”

“เธอทำกับฉันเหมือนเด็ก มีโอกาสเมื่อใดก็จะต้องเป็นทีของฉันบ้างละ”

“เขาตั้งคำถามยังกับสงสัยทุกอย่างที่ฉันพูด”

“เธอครองเวทีพูดเสียคนเดียว แสดงให้เห็นชัด ๆ ว่าความคิดของฉันไม่มีประโยชน์เลย”

“การตีหน้าของเขา ทำให้ฉันสงสัยว่า เขาเข้าใจฉันอยู่หรือเปล่าหรืออาจจะไม่ได้ยินสิ่งที่ฉันกำลังพูดก็ได้”

“เธอโต้เถียงทุกอย่างที่ฉันพูด ฉันมักเป็นฝ่ายผิดเสมอและเธอก็ต้องเป็นฝ่ายถูกทุกเรื่อง”

นักบริหารเป็นพัน ๆ คน มักได้ยินการพูดว่าตนในลักษณะเดียวกันกับข้อความข้างบนเกือบทุกวัน แต่เป็นเพราะว่านักบริหารเหล่านั้นไม่สามารถเข้าถึงความคิดที่แฝงอยู่ในสมองของบุคคลผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน ตลอดจนผู้บังคับบัญชาเหล่านั้นได้ เขาจึงไม่รู้ตัวว่าทำไมเขาจึงต้องมีปัญหาดังกล่าว ที่จริงมีนักบริหารจำนวนมาก ไม่รับรู้ว่ามีปัญหาปรากฏอยู่เลย และในที่นี้จะกล่าวถึงนักบริหารที่ชาญฉลาดที่พร้อมด้วยวิชาความรู้ในด้านอุตสาหกรรมในปัจจุบันบางคน ในจำนวนนักบริหารประเภทดังกล่าว ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหาการขาดประสบการณ์ ขาดพลังใจ ขาดปัญญา หรือขาดความตั้งใจจริงในการทำงาน แต่เป็นปัญหาที่เกิดจากการขาดการสร้างและรักษาไว้ซึ่งสัมพันธภาพที่ได้ประสิทธิผลกับบุคคลอื่น ๆ ได้มีความพยายามสำรวจค้นหาสิ่งที่เป็นความจำเป็นที่บุคคลที่อยู่ในตำแหน่งบริหารจะขาดเสียมิได้ และได้รับคำตอบที่ค่อนข้างจะคงที่และถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับนักบริหารก็คือ ความจำเป็นที่นักบริหารต้องสามารถเข้ากับคนอื่นได้ ท่านทั้งหลายคงไม่ประหลาดใจนัก ที่ได้ยินคำตอบเช่นนี้ และทั้ง ๆ ที่มีคำตอบอยู่แล้ว แต่ไฉนยังคงมีปัญหาดังกล่าวทับถมอยู่ในหมู่นักบริหารจำนวนมากมายเช่นปัจจุบัน

คำตอบที่เป็นสาเหตุหนึ่ง คือ นักบริหารต่าง ๆ มักไม่ได้รับการฝึกอบรมให้เป็นบุคคลที่สามารถสัมพันธ์อย่างดีกับผู้อื่นได้ ในปัจจุบันนักบริหาร จำนวนมากได้ศึกษาต่อหลังระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาบริหารธุรกิจ สาขาวิศวกรรม หรือวิชาอื่น ๆ แต่การมีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคในวิชาเหล่านั้นมิได้แปลว่าบุคคลนั้น จะมีความเชี่ยวชาญอย่างปาฏิหาริย์ในเรื่องการบริหารเชิงประสานสัมพันธ์ได้และแม้แต่การได้รับความสำเร็จในสายวิชาการเป็นเวลาหลาย ๆ ปี ก็ไม่ได้พิสูจน์ว่าจะเชี่ยวชาญในการสร้างสัมพันธภาพเชิงบริหารได้เช่นกัน ดังนั้นนักบริหารจำนวนมากจึงอยู่ในลักษณะที่ไม่พร้อมที่จะจัดการกับปัญหาเรื่องคนเท่ากับที่ตนพร้อมในปัญหา ด้านเทคนิควิชาการ และถึงแม้ว่านักบริหารบางคนอาจจะมีความรู้เรื่องคนก็ยังไม่เคยคิดที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาใช้ในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับคน

ในโลกของธุรกิจนั้น งานบริหารจะถูกมองในแง่ของผลผลิตเสมอ ทำไมรึ? ก็เพราะว่าผลผลิตเป็นกุญแจบ่งบอกถึงความสำเร็จขององค์กร และบอกถึงอนาคตของตัวท่านในฐานะนักบริหาร ท่านเองมักจะประเมินผู้ใต้บังคับบัญชาว่าเขาผลิตได้มากน้อยเพียงไร เพราะตัวท่านเองจะต้องถูกประเมินว่าได้บริหารให้ผู้ใต้บังคับบัญชาสามารถผลิตได้มากน้อยเพียงไรเช่นกัน ระบบการประเมินผลด้านเดียวแบบนี้ ทำให้ไปเข้าใจเอาง่าย ๆ ว่าคนนั้นมีลักษณะเป็นเหมือนทรัพยากรเช่นเดียวกับวัตถุครุภัณฑ์หรือเงิน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ต้องเอามาใช้ประโยชน์เป็นผลผลิตให้กับบริษัทให้ใด้มากที่สุด พนักงานของบริษัทในทุกวันนี้จะไม่ทนทุกข์กับการปฏิบัติงานดังกล่าว ซึ่งจะไม่ส่งผลทางลบทั้งในชีวิตความเป็นอยู่ และผลประโยชน์ที่พึงให้ได้ ตามเป้าหมายของบริษัท นักบริหารที่ประสบความสำเร็จตระหนักดีว่า ถ้าจะให้พนักงานมีผลิตผลสูงสุดก็จะต้องให้พนักงานมีโอกาสอยู่ในสภาพแวดล้อมของงานที่สร้างให้เกิดความพอใจที่ได้สนองความต้องการส่วนตัว ด้วยเหตุนี้ นักบริหารจึงจำเป็นต้องตระหนักในเรื่องค่านิยม ความต้องการ ตลอดจนสาเหตุต่าง ๆ ของพฤติกรรมของพนักงานของตน พร้อมทั้งมีทักษะ ส่วนตัวในการสื่อสารกับพนักงานและปลุกใจให้พนักงานทำงานจนประสบความสำเร็จตามเป้าหมายขององค์กรด้วยวิธีการที่เป็นที่ยอมรับ ไม่มีความขมขื่นในพนักงาน

การผลิตงานเป็นแต่เพียงส่วนหนึ่งของกงจักรการสร้างผลผลิต ถ้าจะให้เกิดประสิทธิภาพในระยะยาว ท่านต้องได้รับผลสำเร็จในการผลิตงาน โดยเอาใจใส่ต่อความต้องการของบุคคลที่ทำงานให้ท่าน และที่ทำงานร่วมกับท่าน ที่จริงแล้ว การบริหารตามความหมายของคำ หมายถึง การทำงานให้เสร็จโดยอาศัยความเพียรพยายามของบุคคลอื่น ท่านอาจจะได้ผลตอบแทนในระยะสั้นด้วยการใช้คนและบังคับสั่งให้คนทำงาน แต่ในระยะยาวประสิทธิภาพของท่าน หรืออาชีพของท่านอาจจะอยู่ในภาวะอันตราย ความรู้สึกต่อต้านและความคับแค้นใจที่เป็นผลสืบเนื่องอาจจะค่อย ๆ แสดงออกให้ปรากฏ ทั้งโดยเปิดเผยและโดยพลังเงียบ ซึ่งก่อให้เกิดความล้มเหลวในฐานะนักบริหาร

ภาพเปรียบเทียบที่นิยมใช้สาธิตแสดงกงจักรการสร้างผลผลิต เป็นลักษณะ ๒ ด้าน คล้ายจักรยาน ๒ ล้อ ความรู้เรื่องเทคนิควิชาการก็ดี และความรู้เรื่องคนก็ดี น่าจะแปรรูปความคิดเป็นล้อจักรยาน ๒ ล้อ ความรู้เรื่องเทคนิควิชาการเป็นเสมือนล้อหลัง ซึ่งเป็นล้อที่เคลื่อนจักรยานให้เดินไปข้างหน้า ล้อหลังส่งแรงขับให้จักรยานหมุนไปได้ทุกแห่ง ย่อมเห็นได้ชัดว่า การบริหารเชิงเทคนิคและวิธีการเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนล้อหน้าของจักรยานคือความรู้เรื่องคน ล้อหน้าจะทำหน้าที่หมุน นำและพาล้อหลังให้หมุนไปในทางที่ท่านต้องการ ท่านสามารถจะมีความชำนาญเชี่ยวชาญตามแบบล้อหลังได้ทั้งหมดในโลกนี้ แต่ถ้าคนไม่ให้ความร่วมมือ หรือไม่รู้ว่าจะไปที่ไหนด้วย ท่านก็คงไปไหนไม่ได้ไกล และนี่คือคำอธิบายทั้งหมดเกี่ยวกับการบริหารเชิงประสานสัมพันธ์ หรือปฏิสัมพันธ์ (Interactive Management)

ไม่ว่าท่านจะมีความทะเยอทะยานหรือสมรรถภาพสูงส่งปานใด ท่านคงไม่สามารถเป็นนักบริหารที่มีประสิทธิภาพได้ถ้าขาดความรู้เรื่อง การสร้างและรักษาไว้ซึ่งสัมพันธภาพที่มีประสิทธิผลกับผู้อื่น ท่านต้องรู้วิธีการที่จะติดต่อสัมพันธ์กับบุคคลอื่น จนกระทั่งบุคคลเหล่านั้นปรารถนาที่จะทำงานด้วยกับท่านและยอมรับในตัวท่านแทนที่จะปฏิเสธท่าน

การกระทำเช่นนี้หมายความว่า ท่านกลายเป็นบุคคลหลักลอยและต้องมีผู้อื่นคอยนำทางโดยยึดถือเอาความต้องการและความปรารนนาของผู้อื่นเป็นหลักในการให้บริการ หรือว่าท่านน่าจะหายุทธวิธีที่สำคัญซึ่งสามารถหยุดการสิ้นเปลืองในการใช้บุคคลอื่น หรือทำให้ท่านบริการเฉพาะบุคคลที่สร้างความชอบพอให้แก่ท่านเป็นพิเศษ ขณะเดียวกันก็ไม่ใส่ใจในบุคคลอื่น ๆ เลย เช่นนั้นหรือคำตอบต่อข้อคำถามทั้งหมดนี้มีอยู่คำเดียวคือ “ไม่ใช่”

ความหมายที่ถูกต้องก็คือ ท่านควรจริงใจที่จะทำทุกอย่างที่สามารถทำได้ เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่แข็งแกร่งเป็นมิตร ซื่อตรง และไว้วางใจกันและกันกับทุกคนที่ท่านทำงานด้วยตั้งแต่เจ้านาย ลูกน้อง และเพื่อนนักบริหารด้วยกัน ในตำแหน่งผู้บริหารท่านย่อมต้องยอมรับโดยอัตโนมัติในหน้าที่รับผิดชอบ ๒ ประการ คือ

๑. ปฏิบัติงานด้านเทคนิควิชาการให้ดีที่สุดในทุกงานที่ได้รับมอบหมายและ

๒. ต้องปฏิสัมพันธ์กับทุกคนจนสุดความสามารถ

กงจักรการสร้างผลผลิต

บทความนี้เขียนขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือท่านนักบริหารตามหน้าที่รับผิดชอบในข้อ ๒ เป้าหมายจึงอยู่ที่การพัฒนาทักษะ การบริหารงานเชิงประสานสัมพันธ์กับผู้อื่น ด้วยวิธีการที่จะนำความสำเร็จมาสู่ตัวท่าน สู่ผู้อื่น และสู่องค์กรโดยส่วนรวม

วิธีประสานสัมพันธ์ในการบริหารคน

งานวิจัยที่เกี่ยวกับบุคลิกภาพมักให้ข้อเสนอแนะว่าบุคคลที่สุขภาพจิตดีจำเป็นต้องได้รับการยกย่องนับถือและต้องมีโอกาสได้แสดงความรู้สึกว่าตนมีสมรรถภาพและมีเสรีภาพในขณะที่กำลังดำเนินชีวิตตามเป้าหมาย ที่ตนผูกพันอยู่ แต่นับว่าโชคร้ายที่ผลงานวิจัยด้านการบริหารเชิงเทคนิค วิธีการชี้ให้เห็นว่าลักษณะการทำงานภายใต้การชี้แนะและเน้นความสนใจที่ผลผลิตมักจะทำให้เกิดสถานการณ์ที่ทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนต้องพึ่งผู้อื่น ต้องสุภาพถ่อมตน ปฏิบัติตามคำสั่ง โดยไม่ค่อยได้ใช้ความสามารถ ที่สำคัญ ๆ ในการพัฒนาตนเอง การทำงานของเขาจะมุ่งให้ความสนใจ ที่ความต้องการของผู้บริหารและขององค์กร แทนที่จะสนองความต้องการของตนเอง และผลก็คือทุกคนจะจบลงด้วยความรู้สึกโกรธ เครียด ทุกข์ใจ และได้ผลผลิตต่ำกว่าความสามารถ ภายใต้สภาพการต่างๆ เหล่านี้ พนักงานจะพยายามปรับตนเองด้วยการขอลาออก หรือแสดงตนด้วยกลวิธานปกป้องตนเอง (Defensive Mechanism) เช่น ทดแทนสิ่งทีขาด (อาจใช้วิธีฝันกลางวัน ก้าวร้าวหรือต่อต้าน) หรือเป็นปฏิปักษ์อย่างเปิดเผยต่อตัวผู้บริหารและระบบการทำงานทั้งหมด

ยิ่งถ้าพนักงานลาออก หรือเลือกใช้กลวิธานในการปกป้องตนเอง เป็นวิธีการปรับตัวหรือปิดบังความโกรธเครียด ฝ่ายบริหารยิ่งยากที่จะมองเห็นปัญหาที่ก่อตัวขึ้น ถ้ามีการต่อต้านอย่างเปิดเผยผู้บริหารเชิงเทคนิค วิธีการ มักจะมีวิธีตอบรับด้วย “การแก้ใขสิ่งผิด” เช่น การเพิ่มการควบคุม การลงโทษรุนแรงขึ้น หรือปฏิบัติการอย่างอื่นที่ยิ่งจะสั่งสมความโกรธเครียดให้มากขึ้น ผลก็คือยิ่งเพิ่มความห่างไกล ความไม่ไว้วางใจ และความทุกข์ ให้กับทั้งสองฝ่าย ไม่มีใครชนะ!

ปรัชญาในการบริหารด้วยการประสานสัมพันธ์นี้ สร้างขึ้นเพื่อเอาชนะปัญหาบางประการเกี่ยวกับสัมพันธภาพระหว่างผู้บริหารและพนักงานต่าง ๆ เหล่านี้ แม้ว่าแนวความคิดดังกล่าวไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่วิธีการประสานความคิดเพื่อสร้างสัมพันธภาพระหว่างผู้บริหารและพนักงาน ทำให้วิธีนี้มีลักษณะเด่นเฉพาะตัว ซึ่งตั้งอยู่บนแนวปรัชญาที่ว่า การจัดการเชิงบังคับหรือการใช้ประโยชน์จากบุคคลอื่น ๆ เพื่อตนเอง ย่อมไม่ส่งผล ทั้งในแง่สุขภาพหรือกำไร แนวปรัชญานี้เชื่อว่าบุคคลที่ทำงานได้ประสิทธิผล นั้นเป็นเพราะเขาเข้าใจและรู้สึกได้รับความเข้าใจจากผู้บริหาร ไม่ใช่เพราะถูกบังคับโดยวิธีจัดการจากเบื้องบน เป็นการหมุนแนวคิดเพื่อช่วยให้บุคคลเข้าใจกระบวนการมากกว่าที่จะบังคับให้ปฏิบัติตาม กระบวนการและรูปแบบนี้มีหลักสำคัญอยู่ที่สัมพันธภาพอันเกิดจากข้อผูกพันแห่งความซื่อสัตย์และจริงใจต่อกัน ตาราง ๑-๑ ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่างการบริหารเชิงประสานสัมพันธ์และการบริหารเชิงเทคนิควิธีการ

สนใจที่องค์กรหรือสนใจที่พนักงาน ในการบริหารเชิงเทคนิค วิธีการ นักบริหารให้ความสนใจส่วนใหญ่ที่งาน แทนที่จะสนใจพนักงาน

แรงจูงใจระดับแรกอยู่ที่การทำงานสำเร็จโดยไม่คำนึงถึงค่าของคน พฤติกรรมที่แสดงออกไม่ว่าจะกล่าวด้วยวาจาหรือไม่ มักจะมุ่งไปที่ความเร่งด่วน ความ รีบร้อน และการบังคับสั่งการ

ส่วนนักบริหารเชิงประสานสัมพันธ์ จะใช้บทบาทของผู้ให้คำปรึกษา เป็นที่ปรึกษาและผู้แก้ปัญหา การช่วยให้ผู้ใต้บังคับบัญชาพิจารณาวิถีทางที่ดีที่สุดในการปฏิบัติตลอดจนรู้ว่าจะลงมือปฏิบัติอย่างไร ถือเป็นความสำคัญอันดับแรกของนักบริหารประเภทนี้ ส่วนพฤติกรรมที่แสดงออกทั้งที่กล่าวและไม่กล่าวด้วยวาจาล้วนแล้วแต่มีจุดหมายอยู่ที่การให้ความไว้วางใจ ความเชื่อมั่น ความอดทน ความเห็นอกเห็นใจ และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ผลที่ได้รับจากการบริหารในรูปแบบใหม่นี้ คือสัมพันธภาพที่ก่อให้เกิดความไว้วางใจ ความเปิดเผยและความใกล้ชิดระหว่างผู้บริหารและพนักงาน ซึ่งเป็นสัมพันธภาพที่เรียกได้ว่า ชนะและชนะเท่านั้น

ตาราง ๑-๑ ความแตกต่างระหว่างกาบริหารเชิงเทคนิควิธีและการบริหารเชิงประสานสัมพันธ์

เชิงเทคนิควิธี (Technical)

เชิงประสานสัมพันธ์ (Interactive)

๑. สนใจที่องค์กร สนใจที่พนักงาน
๒. บอกกล่าว อธิบายและรับฟัง
๓. สร้างพลังอำนาจ สร้างภาวะผูกพันธ์
๔. สนใจงาน สนใจบุคคล
๕. ไม่ยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยน
๖. คุกคามความต้องการ สนองความต้องการ
๗. สร้างความกลัวและความเครียด สร้างความไว้วางใจและความเข้าใจ

บอกกล่าวหรืออธิบายและรับฟัง นักบริหารเชิงเทคนิควิธี มักครองบทสนทนาแต่ฝ่ายเดียว ไม่ค่อยจะถามให้ฝ่ายผู้ใต้บังคับบัญชาได้แสดงบทบาท นอกจากจะถามเพื่อแสดงความสุภาพในประเด็นที่สมควร ตรงกันข้ามในด้านของการบริหารเชิงประสานสัมพันธ์ จะมีการเน้นความสำคัญที่การแก้ปัญหาด้วยการอภิปรายและรับฟังความคิดเห็น ฟังผลสะท้อนกลับจากกันและกัน นักบริหารแบบนี้เป็นผู้มีความรู้มีสมรรถภาพและมีความเชื่อมั่นในการใช้ทักษะการสื่อสารด้วยการตั้งคำถาม การฟังและการสะท้อนกลับ

สร้างพลังอำนาจหรือสร้างกาวะผูกพัน อำนาจและอิทธิพล

ในการบริหาร คือคำ ๒ คำหลักสำหรับดำเนินงานของนักบริหารเชิงเทคนิค วิธีการ “จงทำตามวิธีของฉัน มิฉะนั้นจะเจอดี’’ “ผู้บริหารคือนักคิด’’ “พนักงานคือนักทำ” “ฝ่ายบริหารเป็นฝ่ายตัดสินใจในที่นี้” คำกล่าวต่าง ๆ นี้ มักได้ยินกันจนชินจากนักบริหารเชิงเทคนิคซึ่งหมายความว่าผู้บริหารทำ หน้าที่ควบคุม ชักจูง และบังคับสั่งให้พนักงานกระทำตามตัวอักษรที่ฝ่าย บริหารขอร้องเดี๋ยวนี้ ๆ ไม่ว่าพนักงานจะพร้อมหรือไมก็ตาม แม้ว่าวิธีการเช่นนี้อาจจะใช้ได้ผลในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ แต่ก็ก่อให้เกิดความไม่พอใจกับคนงานที่พร้อมที่จะต่อต้านอย่างเงียบ ๆ ซึ่งยากจะสังเกตุเห็นได้ หรืออาจลาออกเมื่อมีโอกาส

การผสมผสานอย่างได้ประสิทธิผลระหว่างวัตถุประสงค์ระยะสั้น และระยะยาว เป็นตราประจำตัวของนักบริหารเชิงประสานสัมพันธ์ทั้งหลาย นักบริหารประเภทนี้ จะยอมให้พนักงานมี “ห้องหายใจ” เพื่อแก้ปัญหาด้วยตนเองในระยะเวลาพอสมควร ในปัจจุบันการใช้อำนาจสั่งการทันที มีความหมายสำคัญไม่เท่ากับการสร้างคณะทำงานที่มีประสิทธิภาพและได้ประสิทธิผล แม้ว่าการใช้วิธีนี้อาจจะต้องใช้เวลานานกว่านิดหน่อย เพื่อที่จะได้ผลทางบวกจากพนักงาน แต่ก็เป็นวิธีที่สร้างความขมขื่นน้อยกว่า และได้รับความไว้วางใจและความมีนํ้าใจดีต่อกันระหว่างผู้บริหารและพนักงานตลอดจนมีขวัญที่ดีขึ้นในระยะยาว และมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ในการทำงานร่วมกันเป็นคณะ

สนใจงานหรือสนใจบุคคล  การส่งผลผลิตให้เข้าเป้าตามกำหนดเวลา เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้บริหารเชิงเทคนิควิธีการมากกว่าการพัฒนาบุคคล วิธีการเช่นนี้มักทำให้เกิดความคับแค้นใจในหมู่พนักงานซึ่งจะใช้ความมุมานะพยายามในการทำงานเพียงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

การบริหารเชิงประสานสัมพันธ์ ให้ความสนใจที่ตัวบุคคล ปัญหาของพนักงาน และ/หรือความต้องการของพนักงานมีความสำคัญเท่า ๆ กับงาน เป้าหมายสูงสุดของนักบริหารเชิงประสานสัมพันธ์ คือการสร้างสัมพันธภาพกับพนักงานในลักษณะที่ทำให้พนักงานมีกำลังใจที่จะปฏิบัติงานได้สำเร็จบรรลุเป้าหมายขององค์กรตามพลังความสามารถของแต่ละบุคคล

ไม่ยืดหยุ่นหรือปรับเปลี่ยน นักบริหารเชิงเทคนิควิธี มักมีวิธีการปฏิบัติและปฏิสัมพันธ์ด้วยวิธีเดิมตลอดเวลากับพนักงานที่ต่าง ๆ กัน

นักบริหารประเภทนี้ไม่ค่อยจะรับรู้ในความหลากหลายของวิถีชีวิต ความหลากหลายในความต้องการ ตลอดจนปัญหาของพนักงานใต้บังคับบัญชา ที่มีลักษณะต่างๆ กัน  นักบริหารเชิงเทคนิควิธี มักจะไม่รับรู้และไม่ได้สังเกตเห็นพฤติกรรมที่บ่งบอกความจำเป็นของแต่ละบุคคล หรือที่เป็นความต้องการที่บีบคั้นอยู่ชั่วขณะ หรือความต้องการภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ ในปัจจุบันขณะนั้นของพนักงานของตน

การยืดหยุ่นเป็นทักษะแม่บทที่เป็นที่นิยมใช้อยู่ในหมู่นักบริหารเชิง ประสานสัมพันธ์ นักบริหารประเภทนี้ใช้วิธีการยืดหยุ่นในการสื่อสัมพันธ์ กับทุกลักษณะชีวิตที่ต่าง ๆ กันของพนักงานของตน การบริหารงานของนักบริหารประเภทนี้ คือการปรับเปลี่ยนวิธีการให้เข้ากับพนักงาน แต่ละคน ในแต่ละสถานการณ์ นักบริหารเชิงประสานลัมพันธ์มีธรรมชาติที่สามารถรับรู้และเข้าถึงจิตใจของสิ่งที่ผู้ใต้บังคับบัญชา สื่อให้ทราบจะด้วยวาจาหรือที่มิได้กล่าวด้วยวาจาก็ตาม และเมื่อรับรู้แล้วก็มีความตั้งใจและสามารถเปลี่ยนวิธีการและเป้าประสงค์ได้หากมีความจำเป็น

คุกคามความต้องการหรือสนองความต้องการ เมื่อท่านบอกคนบางคนว่าท่านทราบปัญหาของเขาและลงมือให้คำแนะนำในการแก้ปัญหา โดยท่านไม่ได้รับฟังคำโต้ตอบแต่ประการใด ย่อมหมายความว่า บุคคลผู้นั้นมีแนวโน้มที่จะปกป้องตนเอง ปิดบังและรู้สึกขมขื่น การปฏิสัมพันธ์ ในขณะนั้นจะมีลักษณะเหมือนทำสงครามอยู่ในสถานการณ์ที่ชิงแพ้ ชิงชนะกัน พนักงานผู้ใต้บังคับบัญชาย่อมไม่สามารถแลกเปลี่ยนข้อสนเทศได้โดยเสรีกับผู้บริหารภายใต้สภาพการณ์ดังกล่าว และมักจะก่อให้เกิด “บรรยากาศอึมครึม” (ฉาบฉวย) ซึ่งทำให้ผู้บริหารขาดสติได้ และเป็นที่แน่ชัดว่าวิธีการนี้ไม่ใช่สัมพันธภาพที่มีประสิทธิผล

ในการบริหารงานเชิงประสานสัมพันธ์ ผู้บริหารมักเจนจัดในการ รวบรวมข้อสนเทศเพื่อช่วยพนักงานอย่างเปิดเผยและจริงใจที่จะค้นหาความ ต้องการและปัญหาของแต่ละบุคคล ด้วยวิธีการเช่นนี้ พนักงานจะมองสัมพันธภาพในลักษณะของการให้ความช่วยเหลือ จะมีแต่ความไว้วางใจกัน ความเชื่อมั่นกัน และความเปิดเผยต่อกัน แผ่กระจายอยู่ทั่วไปในลักษณะ

สังคมที่ชนะและชนะเช่นนี้ ยิ่งกว่านั้นพนักงานผู้ใต้บังคับบัญชาย่อมมีส่วนร่วมโดยทั่วถึงในกระบวนการแก้ปัญหาร่วมกับผู้บริหาร วิธีเช่นนี้ เปิดทางให้พนักงานเกิดภาวะผูกพันธ์เป็นส่วนตัวที่จะต้องนำแผนลงสู่การปฎิบัติ

สร้างความกลัวและความเครียดหรือสร้างความไว้วางใจและความเข้าใจ พฤติกรรมทั้ง ๖ ลักษณะที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด เป็นการปลูกฝังให้เกิดสัมพันธภาพระหว่างผู้บริหารและผู้ใต้บังคับบัญชา โดยอาศัยความกลัวและความเครียดหรือความไว้วางใจ และความเข้าใจเป็นพื้นฐาน ในการบริหารเชิงเทคนิควิธีนั้น มีระดับความกลัวและการปกป้องตนอยู่ในขั้นสูงมาก ทั้งผู้บริหารและพนักงานต่างก็มีเกมเล่นต่อกัน การบริหารกลายเป็นกระบวนการชักจูงและการบังคับควบคุมมากกว่าการแก้ปัญหาและการอำนวยความสะดวก สัมพันธภาพระหว่างผู้บริหารและพนักงานเลวลง จนทำให้สภาพการปกป้องตนเองและการไม่ไว้วางใจกันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ในทางกลับกัน การบริหารเชิงประสานสัมพันธ์นั้นมีลักษณะความไว้วางใจ การยอมรับและการเข้าใจกันเป็นตัวเกณฑ์ปกติ กระบวนการสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารและผู้ใต้บังคับบัญชามีลักษณะเปิดเผย ซื่อสัตย์ และตรงไปตรงมา มีการแลกเปลี่ยนข้อสนเทศกันอย่างเปิดเผยและปัญหาต่าง ๆ ก็ได้รับการแก้ไขอย่างนิ่มนวล และไม่ว่าจะมีการตัดสินใจอย่างไร หรือไม่ ทั้งผู้บริหารและพนักงานต่างฝ่ายต่างมีความรู้สึกที่ดีงามต่อกัน และประสานสัมพันธ์กันด้วยดี ทั้งสองฝ่ายเป็นผู้ชนะทั้งคู่