ความสำคัญของระบบการตอบแทนแบบจูงใจ

การจ่ายตอบแทนแบบจูงใจในช่วงระยะหลังได้มีการนำมาใช้น้อยลง ซึ่งเหตุผลสำคัญเป็นเพราะปัญหาต่อไปนี้ คือ

1.  เนื่องจากมีการใช้เครื่องจักรเข้ามาทำงานมากขึ้น ซึ่งเครื่องจักรได้เป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพของผลผลิตได้แน่นอนกว่า ดังนั้นความต้องการที่จะต้องมีระบบจูงใจจึงมีน้อยลงด้วย

2.  สภาพการผลิตในปัจจุบันการใช้แรงงานทางอ้อมได้มีอัตราส่วนสูงขึ้น ซึ่งในขณะเดียวกันแรงงานทางตรงต่าง ๆ กลับมีสัดส่วนน้อยลง

3.  เพราะเหตุที่ต้นทุนแรงงานได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก อันเนื่องมาจากสาเหตุที่มิได้มีการให้ความสนใจต่อการกำหนดอัตราเท่าที่ควร และเพราะมิได้สนใจในการตรวจสอบมาตรฐานผลงานต่าง ๆ ที่แน่นอน

4.  สหภาพแรงงานต่าง ๆ ได้โต้แย้งและผลักดันตลอดจนร้องเรียนเกี่ยวกับอัตราและรายได้ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่อฝ่ายจัดการมากมาย

5.  หัวหน้างานต่าง ๆ มักจะร้องเรียนว่า การใช้ระบบการจูงใจเป็นการเพิ่มภาระในทางการบริหารเป็นอย่างมาก

6.  ฝ่ายจัดการบางคนมีความเชื่อและรู้สึกว่าผลผลิตที่ดีนั้น มีช่องทางจะให้สำเร็จผลได้ด้วยวิธีอื่น ซึ่งมีปัญหาน้อยกว่า

อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีการใช้ระบบการจ่ายตอบแทนแบบจูงใจน้อยลงและหันมาใช้การจ่ายตอบแทนแบบจ่ายตามเวลามากขึ้นก็ตาม ในอุตสาหกรรมการผลิตบางประเภท ซึ่งได้รับประโยชน์จาก วิธีนี้ก็มีใช้อยู่มากเช่นกัน อุตสาหกรรมต่าง ๆ เหล่านี้อัตราผลผลิตและความสัมพันธ์ต่อคนงานในระบบ จูงใจที่ใช้กันมากก็คือ อุตสาหกรรมทอผ้าและการทำเสื้อผ้าต่าง ๆ รวมทั้งอุตสาหกรรมรองเท้า ตลอดจนงานที่เกี่ยวกับช่างเหล็กและงานผลิตแก้ว เป็นต้น

การที่จะตัดสินใจว่าควรจะใช้ระบบการจ่ายแบบจูงใจหรือไม่นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ  กล่าวคือจะต้องมีพร้อมในสิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้ คือ

1.  ผลผลิตที่พนักงานแต่ละคนทำออกมาไม่ว่าจะเป็นของรายบุคคลหรือของกลุ่มก็ตามจะต้องเป็นสิ่งที่สามารถวัดได้ (measurable) และเหมาะสมที่จะสามารกกำหนดเป็นมาตรฐานได้ง่าย การกำหนดเป็นมาตรฐานนั้นหมายถึง วิธีทำงานตลอดจนวัตถุดิบ เครื่องมือที่ใช้และวิธีดำเนินงาน ควรจะมีรูปแบบที่แน่นอนในการดำเนินการผลิตแต่ละหน่วย ถ้าหากการทำงานของงานแต่ละชิ้น แต่ละหน่วยนั้น มีความแตกต่างกันมากระหว่างชิ้นต่อชิ้นหรือถ้างานนั้นอยู่ในสภาพซึ่งจะต้องทำแยกหน่วยงานหนึ่งไปยังอีกหน่วยงานหนึ่ง ในกรณีเช่นนี้ ถึงแม้จะมีหนทางที่พอจะวัดได้ในแง่ของเวลา หรือด้วยเกณฑ์ของงานอื่น ๆ ก็ตาม ก็จะเป็นการไม่เหมาะสมหรือยังคงเป็นปัญหายุ่งยากได้เสมอ เพราะการพูดถึงตัวถัวเฉลี่ยหรือตัวกลางจะมีคุณค่าน้อยกว่า และไม่ชัดแจ้งเท่ากับการกำหนดมาตรฐานที่แน่นอน

 

2.  ควรที่จะต้องมีความสัมพันธ์ที่คงเส้นคงวาและแน่นอนระหว่างขนาดของความชำนาญและ ความสามารถที่ใช้โดยพนักงานและผลผลิต กล่าวคือในงานบางอย่างนั้นเครื่องจักรได้ควบคุมการทำงานเกือบทั้งหมด ดังนั้น พิจารณาจากในแง่ของพนักงานที่เข้ามาช่วยทำ จึงมีแต่เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีผลต่อการผลิตโดยตรง ในสภาพเช่นนี้ ถ้าหากจะใช้บ้างก็อาจจะทำได้โดยเฉพาะในรูปของการให้โบนัส เพื่อที่จะให้พนักงานได้มีความขยันขันแข็งในการปฏิบัติงานในหน้าที่ในเครื่องจักร และไม่ให้มีการหยุดเครื่องหรือล่าช้าโดยไม่จำเป็น

3.  งานที่ผลิตได้ควรจะสามารถวัดได้แน่นอนในทันที โดยเฉพาะการสามารถนับเป็นผลงานของแต่ละบุคคลได้กล่าวคือ ถ้าต้นทุนที่จะนำมาใช้พิจารณาว่าพนักงานแต่ละคนผลิตได้มากน้อยเพียงใด ในแต่ละขั้นตอนของการผลิตถ้าหากด้นทุนสูงมากแล้วการใช้ระบบการจ่ายตอบแทนแบบจูงใจที่มีการจ่ายตามช่วงเวลาของการทำงานมักจะเป็นวิธีที่สะดวกกว่าการจ่ายแบบจูงใจสำหรับแต่ละบุคคล

4.  ควรจะต้องมีหนทางโอกาสที่จะสามารถลดต้นทุนต่อหน่วยของผลผลิตและบริการหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การสามารถเพิ่มผลผลิตควรจะมีหนทางหรือมีช่องทางที่จะทำได้ค่อนข้างชัด ทั้งนี้ เพราะเหตุผลสำคัญที่นายจ้างมีอยู่แล้วนั้นส่วนใหญ่การจ่ายผลตอบแทนแบบระบบจูงใจหากจะนำมาใช้ ควรจะต้องสามารถมีส่วนช่วยให้ผลผลิตสูงขึ้นได้ หรือสามารถช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพให้ดีขึ้น ตลอดจนช่วยให้สมรรถภาพสูงขึ้น เพื่อให้มีต้นทุนต่อหน่วยลดลงอย่างใดอย่างหนึ่ง

5.  ควรที่พนักงานส่วนมากจะต้องยอมรับและสนับสนุนตลอดจนร่วมมือในวิธีการจ่ายตอบแทนแบบนี้ กล่าวคือ รางวัลผลตอบแทนที่พนักงานจะได้รับจากการเข้าร่วมควรจะมีโอกาสได้รับสูงขึ้น มากกว่าการทำงานที่นับตามเวลาหรือการจ่ายตามเวลา ถ้าหากพนักงานมิได้มีการให้การสนับสนุนแล้ว ระบบการจ่ายตอบแทนแบบจูงใจก็จะไม่มั่นคงแน่นอน