ความสำเร็จของระบบการจ่ายตอบแทนแบบจูงใจ

การที่จะพิจารณาว่าการจ่ายผลตอบแทนแบบจูงใจได้มีความสำเร็จมากน้อยเพียงใดนั้น ข้อที่ควรพิจารณาก็คือการที่จะต้องพิจารณาถึงอิทธิพลทั้งหมดที่มีผลกระทบต่อองค์การ กล่าวคือ ถ้าในกรณีที่ได้มีการเร่งผลผลิตเป็นอย่างมาก โดยใช้วิธีการจูงใจแบบนี้อย่างเต็มที่แล้ว ถ้าหากมีผลไปทำให้ค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนในการดำเนินการสูงขึ้น หรือทำให้คุณภาพของงานต่ำลงหรือทำให้ความร่วมมือ ระหว่างพนักงานน้อยลง หรือเกิดปัญหาหลาย ๆ อย่างขึ้นมาพร้อมกัน เช่นนี้ก็ย่อมแสดงว่าการจ่ายแบบจูงใจมิได้ผลตามความหมายที่ถูกต้องดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาถึงผลรวมของระบบการจ่ายตอบแทนแบบจูงใจ     ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะให้สามารถนำมาใช้กับแต่ละเรื่องขององค์การที่ต้องการจะประสบผลสำเร็จ ปัจจัยที่ล้วนสนับสนุนความสำเร็จของระบบการจ่ายแบบ จูงใจนั้น อาจจะสรุปได้ดังนี้ คือ

 

ก. ความมนใจของฝ่ายจัดการ กล่าวคือ ระบบการจ่ายตอบแทนแบบจูงใจ มักจะมีโอกาสสำเร็จผลได้ถ้าหากได้มีบรรยากาศที่ดี และมีแผนงานทางการบริหารงานบุคคลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายจัดการทุกระดับ ในกรณีเช่นนี้ พนักงานส่วนมากที่ได้มีความเชื่อถือและไว้วางใจในความตั้งใจของฝ่ายจัดการ ก็จะมีทัศนะต่อระบบการจ่ายแบบจูงใจว่ามีระบบที่จัดขึ้นมาเพื่อที่จะส่งเสริมมากกว่าที่จะทำลายผลประโยชน์ของพนักงาน แต่ถ้าหากคนงานมิได้มีความมั่นใจในฝ่ายจัดการแล้ว ก็มักจะระแวงว่าการจ่ายแบบจูงใจนี้ เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะรีดนาทาเร้นเอาผลงาน จากพวกเขาให้มากยิ่งขึ้น โดยจ่ายเงินแต่เพียงเล็กน้อยเพื่อแลกกับความเหนื่อยยากของคนงาน

ข. การให้มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างการจ่ายตอบแทนที่จูงใจและงานที่ทำ

กล่าวคือ ระบบที่ดีนั้นพนักงานจะต้องสามารถมองเห็นได้ชัดว่า ได้มีความสัมพันธ์ในแง่ดีระหว่างผลตอบแทนที่เขาได้รับมาในรูปของการจ่ายจูงใจและงานที่เขาได้ทำให้ความสามารถในการมองเห็นและเข้าใจนี้ อาจจะเป็นไปได้ 2 ทาง ซึ่งย่อมขึ้นอยู่กับมาตรฐานของผลงานที่ได้กำหนดไว้ว่ามีความชัดแจ้ง และเป็นที่เข้าใจของพนักงานได้ดีเพียงใด และจะต้องถูกต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสมที่พนักงานทั่วไป ยอมรับด้วย ความผูกพันของพนักงานที่มีต่อผลสำเร็จของผลงานนี้จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประสิทธิภาพของการจูงใจ และจะมีได้ก็ต่อเมื่อได้มีการเข้าใจระหว่างกันและเชื่อมั่นกันระหว่างพนักงาน กับผู้บังคับบัญชาของเขา ซึ่งถ้าหากมีขึ้นแล้วก็จะเป็นช่องทางที่จะให้มีการติดต่อสื่อความได้ทั้ง 2 ทาง ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่าระบบการจ่ายตอบแทนแบบจูงใจนี้ ถ้าหากมิได้มีการพิจารณาให้สัมพันธ์กับผลงานที่จะทำได้แล้ว ก็จะไม่สามารถมีหลักประกันว่าจะใช้ได้อย่างสำเร็จผล และก็เป็นหลักที่ยึดถือ ได้เช่นกันว่า ถ้าหากผลงานได้กระทำออกมาจนปรากฏแล้ว รางวัลผลตอบแทนที่ให้ก็จะต้องมีการตอบสนองให้เป็นผลสอดคล้องกันด้วย ดังนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่าถ้าหากรางวัลผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินมีมากพอ และมีการจ่ายให้ได้ในเวลาอันสมควรและสามารถชี้ชัดได้ว่า มีส่วนสัมพันธ์กับผลงานและพฤติกรรมอย่างไรแล้ว ในกรณีดังกล่าวนี้ โอกาสของพนักงานที่จะมีความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นธรรมจะมีได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความยุติธรรมในการจ่ายค่าจ้างแบบจูงใจจะเป็นที่เข้าใจและเห็นได้ชัดยิ่งขึ้น ถ้าหากว่าการจ่ายดังกล่าวได้กระทำแยกจากกันกับกรณีของการจ่ายตามปกติ