จุดกำเนิดของระบบการจ่ายผลตอบแทนแบบจูงใจ

กลุ่มที่ถือได้ว่าเป็นผู้เริ่มต้นใช้การจ่ายผลตอบแทนแบบจูงใจก็คือกลุ่มของการบริหารที่มีหลักเกณฑ์ ซึ่งได้ใช้วิธีการจ่ายผลตอบแทนเพิ่มขึ้น โดยให้มีการจ่ายผลตอบแทนในรูปตัวเงินแบบจูงใจ ด้วยการกำหนดมาตรฐานผลงานที่ชัดแจ้ง ซึ่งผลผลิตของพนักงานที่ทำได้จะถูกนำมาเปรียบเทียบวัดผลและให้รางวัลเพิ่ม Frederick w. Taylor และนักวิชาการในสมัยนั้น ได้มีความเชื่อว่าพนักงานส่วนมากจะทุ่มเทความพยายามของตนมากขึ้นถ้าหากได้รับการจ่ายผลตอบแทนในอัตราที่จูงใจสูงขึ้น  ทั้งนี้โดยยึดถือที่จำนวนของงานที่ทำได้เป็นสำคัญ Taylor ได้พัฒนาระบบการจ่ายผลตอบแทนแบบจูงใจที่เรียกว่า “Differential Piece Rate” ที่ซึ่งพนักงานจะได้รับการจ่ายในอัตราต่อชิ้น ถ้าหากว่าเขาสามารถผลิตได้ตํ่ากว่ามาตรฐานจำนวนหนึ่ง และจะได้รับการจ่ายในอีกอัตราหนึ่งที่สูงกว่า ถ้าหากผลผลิตของเขาสามารถทำได้เกินกว่ามาตรฐาน ด้วยการใช้วิธีการดังกล่าว ทำให้มีผลในทางกระตุ้นให้พนักงานคำนึงถึงผลสำเร็จ หรือการพยายามที่จะทำการผลิตให้ได้สูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ ระบบการจ่ายแบบจูงใจของ Taylor นี้ ต่อมาได้พิจารณาและนำไปดัดแปลงใช้ในรูปแบบต่าง ๆ กัน ซึ่งได้ปรากฏเป็นวิธีการของผู้คิดค้นหลายคนด้วยกัน เช่น Gantt, Emerson, Halsey, Rowan และ Bedeaux ถึงแม้ว่าแผนการจ่ายผลตอบแทนแบบจูงใจที่คิดค้นขึ้นต่าง ๆ นั้น จะมีชื่อเรียกต่างกันไปบ้าง แต่สาระสำคัญก็คงคล้ายกัน จะต่างกันเฉพาะแต่วิธีการคำนวณเกี่ยวกับการจูงใจเท่านั้น แต่หลักการสำคัญก็ยังคงเหมือนกันที่ทุก ๆ กรณี ล้วนแต่จะพยายามที่จะให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างอัตราค่าจ้างกับพนักงานที่จะให้ถึงผลผลิตอย่างใกล้ชิดที่สุด การปรับปรุงระบบการจ่ายผลตอบแทนแบบจูงใจดังกล่าว แต่ละวิธีนอกจากจะพยายามมุ่งสร้างมาตรฐานที่ถูกต้องยิ่งขึ้นและมุ่งคิดค้นวิธีวัดผลงานที่ดีขึ้นแล้ว ยังได้พยายามคิดค้นสูตรวิธีที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในการคำนวณอัตราการจ่ายตอบแทน