ยุทธศาสตร์การจัดช่องว่างระหว่างบุคคล

ด้วยเหตุนี้ที่เรามักจะมีความไม่สบายใจ เมื่อมีบุคคลรุกลํ้าอธิปไตย ส่วนตัวของเรา เราจึงสร้างพฤติกรรมเฉพาะพิเศษขึ้น เพื่อลดความเครียด และป้องกันตัวเราเองจากการรุกลํ้าต่อ ๆ ไป ชาร์ลส์และมารี ดัลตัน (Charle & Marie Dalton) ได้สรุปยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการจัดช่องว่างระหว่างบุคคลไว้หลายประการ ยุทธศาสตร์ที่ใช้กันทั่ว ๆ ไปมากที่สุด คือ การลุกหนีง่าย ๆ และสร้างช่องว่างให้ห่างมากขึ้นจนกว่าผู้บุกรุกจะอยู่ในเขตแดนที่สบายมากขึ้น ยุทธศาสตร์อื่น ๆ ก็มีอีกเช่น การหลบสายตา หรือวางวัตถุกั้นระหว่างตัวท่านและบุคคลอื่น เช่น ที่วางเท้า ขาของท่าน หรือข้อศอก ท่าที่สะดวกสบายที่สุดเมื่อมีการสนทนากัน ย่อมขึ้นอยู่กับธรรมชาติของบุคคลอื่นและสถานการณ์นั้น ๆ

การจัดเข้าคู่  เมื่อคน ๒ คน หรือคนคู่หนึ่งกำลังปฏิสัมพันธ์ด้วยการ สนทนาที่เป็นแบบกันเอง ซึ่งทั้ง ๒ ฝ่ายต่างก็รู้สึกสบายๆ กับเรื่องที่พูด และพอใจซึ่งกันและกัน การนั่งในตำแหน่งที่อยู่ในมุมเยื้องกันดูเหมือนจะดีที่สุด ตำแหน่งนั่งดังในภาพ ๑๑-๒ ย่อมทำให้ทั้ง ๒ ฝ่าย สามารถสื่อประสานสายตากันได้อย่างไม่มีขอบเขต และใช้สัญญาณที่แสดงความรู้สึกทางร่างกาย เช่น สีหน้าและท่าทางอย่างอื่นได้อย่างเต็มที่ ส่วนการนั่งในตำแหน่งเรียงคู่กัน มักชอบใช้เพื่อปฏิสัมพันธ์ในคณะทำงานร่วมกันซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างก็มีสมาธิส่วนใหญ่อยู่ที่งานที่กำลังกระทำอยู่

เท่าที่ปรากฎในภาพ ๑๑-๓ แสดงว่า การอ่านภาษาร่างกายของกันและกันทำได้ยากมากในท่านี้ เขตแดนที่อยู่ระหว่างกันนั้นใกล้เกินกว่าที่จะอดทนได้โดยทั่วไป แต่ด้วยเหตุที่สมาชิกทั้ง ๒ กำลังมีสมาธิอยู่ที่งาน และมีความตั้งใจที่จะให้ความร่วมมือกันและกัน ทั้งยังหวังที่จะได้รับความไว้วางใจกัน ทำให้สภาพที่อาจเสียเปรียบนี้ เป็นสิ่งที่พอทนได้เพื่องานในขณะนั้น

ในภาพ ๑๑-๔ แสดงการนั่งอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกัน ซึ่งบางครั้งก็ใช้ในการสนทนาสบาย ๆ ที่ไม่มีพิธีรีตอง แต่มักใช้บ่อยในสถานการณ์ที่ต้องประจันหน้ากัน การนั่งในตำแหน่งเช่นนี้ เปิดโอกาสให้ได้เฝ้ามอง ตรวจตรากันอย่างใกล้ชิด เพื่อได้ร่องรอยโดยอวาจา และเป็นการจัดให้ปลอดอุปสรรคกีดขวางระหว่างสมาชิกด้วยกัน

เมื่อผู้ร่วมงานอยู่ในที่เดียวกัน แต่ต่างก็ทำงานของตนอย่างอิสระเสรี ท่าที่ชอบใช้กันมากสำหรับประเภทนี้ ได้แก่ ท่านั่งร่วมอิริยาบถ ซึ่งแสดงอยู่ในภาพ ๑๑-๕ ท่านี้เปิดโอกาสให้มีอะไรที่เป็นส่วนตัว แต่อยู่ในขอบข่ายที่เป็นลักษณะกึ่งถาวร เพื่อจะได้ปิดตนเองจากบุคคลอื่น เพื่อให้ตนสามารถอยู่คนเดียวกับงานได้

การจัดเข้ากลุ่ม เราได้พบแล้วว่า ลักษณะธรรมชาติของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน มีผลต่อท่านั่งของคู่สนทนานั้น ๆ ปรากฏการณ์ตามธรรมชาติอย่างเดียวกันนี้เกิดขึ้นในการปฏิสัมพันธ์เป็นกลุ่มด้วย แม้ว่า จะมีลักษณะสับสนมากขึ้น และมีผลต่อรูปแบบวิธีการสื่อสารต่อภาวะผู้นำ และลักษณะของการตัดสินใจทั้งหมดด้วย

ผู้นำมักจะนั่งอยู่ที่หัวโต๊ะ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่นำไปสู่การร่วมมือกันอย่างกระฉับกระเฉง ไม่ว่าใครจะเป็นผู้นั่งอยู่ในตำแหน่งนี้ก็ตาม ถ้าพิจารณาจากในภาพ ๑๑-๖ บุคคลที่นั่งอยู่หัวโต๊ะ น่าจะมีตำแหน่งสูงกว่าคนอื่นในกลุ่ม และย่อมจะเป็นสมาชิกที่คล่องแคล่วที่สุด ด้วยเหตุที่การสื่อสารจากหลายสมาชิกในกลุ่มจะส่งมาที่ตำแหน่งนี้ บุคคลผู้อยู่ในตำแหน่งนี้ จึงน่าจะเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของกลุ่ม และย่อมจะต้องสนุกในการอภิปรายมากกว่าบุคคลที่นั่งในตำแหน่งด้านข้าง ๆ ของโต๊ะ ผู้นำที่เป็นทางการมักจะเป็นที่รู้กันว่าจะต้องนั่งหัวโต๊ะ ในกลุ่มที่มีฐานะ “เท่าเทียมกัน” บุคคลที่นั่งอยู่ในตำแหน่งนั้น ย่อมมีโอกาสดีที่สุดที่จะกลาย เป็นคนมีอิทธิพล เพราะการได้เปรียบในด้านการให้และรับสารที่สื่อให้ทราบทั้งด้วยวาจาและอวาจา

เพื่อรักษาดุลอำนาจของผู้นำประเภทเผด็จการ สมาชิกอื่น ๆ ในกลุ่ม บางครั้งก็รวมกลุ่มกันดังแสดงให้เห็นในภาพ ๑๑-๗ แม้ว่าการรวมกลุ่มชนิดนี้ ส่วนมากจะเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ แต่ก็ช่วยให้ง่ายต่อการอ่านเงื่อนปมต่าง ๆ ที่ไม่ได้กล่าวด้วยคำพูด ซึ่งดำเนินอยู่ระหว่างตัวผู้นำและสมาชิกอื่น ๆ ของกลุ่ม การนั่งเป็นกลุ่มรวมเช่นนี้ เป็นคำถามอธิบายถึงความว่างในเก้าอี้ตัวที่อยู่ใกล้ๆ มุมที่ประธานนั่ง เมื่อจัดการประชุมอย่างเป็นทางการ

ผลการวิจัย ได้ชี้ให้เห็นจุดที่น่าสนใจอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการเลือกที่นั่ง ในสถานการณ์ของกลุ่มตัวอย่าง เช่น มักมีความคับข้องใจเกิดขึ้นระหว่างบุคคลที่นั่งตรงข้ามกัน อีกประการหนึ่งเมื่อบุคคลหยุดการพูด บางคนที่อยู่ตรงข้ามในโต๊ะก็มักจะรีบพูดต่อ แทนที่จะเป็นคนที่นั่งด้านข้าง ๆ การสนทนากับคนข้างเคียงก็จะอยู่ในความพยายาม เพื่อดึงอำนาจ หรือเรียกคะแนนนิยมก่อนที่จะมีข้อตกลงด้วยวาจา