ลำดับขั้นการจัดเกี่ยวกับการฝึกอบรม

การจัดเกี่ยววกับการฝึกอบรมนั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับนโยบาย  ลักษณะของงาน หัวหน้างาน และการประสานงาน ฯลฯ ดังนั้น  การจัดวางโครงการดำเนินงานเกี่ยวกับการฝึกอบรมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องใช้ความระมัดระวังให้มาก  อาจสรุปลำดับขั้นของการจัดการฝึกอบรมได้ดังนี้ คือ

1.  วิเคราะห์ความต้องการในการฝึกอบรม(Analyzed training needs) โดยทั่วไปในการปฏิบัติงานนั้น  จำเป็นต้องมีการปรับปรุง  เพราะหน่วยงานบางแห่งอาจมีผลผลิตตกต่ำ  งานล่าช้า ขวัญของคนงานไม่ดีพอ ฯลฯ  สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงงาน

2.  ตรวจสอบความต้องการแต่ละลักษณะของงาน(Examine each needs) โดยการพิจารณาเปรียบเทียบถึงความต้องการ และ/หรือความจำเป็นอันเร่งด่วนในบรรดางานที่ต้องการจัดให้มีการฝึกอบรม  แล้วยังจะต้องคำนึงถึงความที่จะเป็นไปได้ของงานที่จะปรับปรุงโดยการฝึกอบรมด้วย  เพราะงานทุกอย่างมิใช่จะสามารถแก้ไขอุปสรรคข้อขัดข้องได้ด้วยวิธีการฝึกอบรมเสมอไปไม่  อาจมีอุปสรรคสืบเนื่องมาจากสาเหตุอื่น ดังนั้น ในการพิจารณาความต้องการจึงต้องพิเคราะห์ดูให้รอบคอบถ่องแท้  การจัดการฝึกอบรมโดยที่มีความจำเป็นไม่เพียงพอย่อมสิ้นเปลืองทั้งกำลังคน เงิน และวัสดุอุปกรณ์ เป็นอันมาก

3.  วางโครงการในการฝึกอบรม(Design training program)  คือ การจัดวางโครงการหรือแผนงานสำหรับการฝึกอบรม  ซึ่งจะต้องคำนึงถึงลักษณะและประเภทของการฝึกอบรมที่จะจัด  จำนวนผู้เข้าร่วมการอบรม  สถานที่ หัวข้อวิชา  ผู้บรรยายหรือผู้นำอภิปราย อุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ยานพาหนะ กำลังเจ้าหน้าที่ เงิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ เป็นต้น

4.  เสนอโครงการเพื่อรับความเห็นชอบ(Propose program to top management) เมื่อได้สำรวจความจำเป็นและวางโครงการในการฝึกอบรมแล้ว  ต้องเสนอความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชา  ทั้งนี้  เพื่อให้มีการประสานงาน และงานฝึกอบรมสามารถดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยโดยไม่หยุดยั้ง

5.  จัดวางระเบียบปฏิบัติในการดำเนินการ(Issue regulations on training) คือ จัดวางระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการให้เหมาะสมและถูกต้อง  เช่น การฝึกอบรมที่มีลักษณะเป็นการฝึกวิชาชีพ  มีระเบียบข้องบังคับที่จะนำเอาความรู้ ความสามารถจากการเข้าศึกษาอบรมตามหลักสูตรนั้น ๆ ไปปรับคุณวุฒิหรือการเลื่อนขั้นเงินเดือนได้  ก็จะต้องพิจารณาวางระเบียบในการฝึกอบรมนั้นให้สอดคล้องกับกฎข้อบังคับของทางราชการหรือองค์การที่กำหนดไว้

6.  การประเมิน(Evaluation) คือการวัดเพื่อตรวจสอบดูว่า การฝึกอบรมที่จัดขึ้นนั้นสัมฤทธิ์ผลสมความมุ่งหมายที่วางไว้หรือไม่  หากมีอุปสรรคข้อขัดข้องจะได้ทราบและนำไปปรับปรุงแก้ไขต่อไป

7.  การติดตามผล(Follow up) การติดตามผลเป็นลำดับขั้นที่มีความสำคัญมาก เพราะจะต้องติดตามดูว่า ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ที่เข้ารับการฝึกอบรมแล้วปฏิบัติงานได้ผลดีขึ้นหรือไม่ มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ในการนี้อาจร้องขอให้ผู้บังคับบัญชากรอกแบบสอบถาม (Questionnaire) หรือให้ให้ความเห็นจากการสังเกตพฤติกรรมในการปฏิบัติงาน และ/หรือติดตามดูจากผลการปฏิบัติงานก็ย่อมทำได้