วิวัฒนาการของการจัดการเพื่อประกอบการพิจารณา

วิวัฒนาการของการจัดการเพื่อประกอบการพิจารณา

การจัดการตามวิธีการสมัยใหม่ ได้รับการตื่นตัว และสนใจอย่างขนานใหญ่เมื่อมีการปฏิบัติทางอุตสาหกรรม ในปี ค.ศ.1893  หลังจากเกิดการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมขึ้นแล้ว  เทคโนโลยีทางอุตสาหกรรมได้เจริญอย่างรวดเร็ว  กิจการอุตสาหกรรมมีความต้องการแรงงานที่มีฝีมือ (Skill) มีความรู้ (Knowledge) และมีทัศนคติ (Attitude) ที่ดีในการทำงาน  การประกอบอุตสาหกิจ ในระยะนั้นพยายามที่จะรวมตัวกันเข้าเป็นกิจการขนาดใหญ่  บรรดาช่างฝีมือ ที่เคยทำงานอุตสาหกรรมในครัวเรือนของตนเอง ก็หันไปรับจ้างทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม  ซึ่งได้นำเอาระบบโรงงานมาใช้เพื่อทวีผลผลิตให้มากขึ้น  แต่บรรดาช่างฝีมือที่มาจากแหล่งต่าง ๆ กันนี้ย่อมมีระดับฝีมือแตกต่างกัน  ปัญหาเรื่องชั่วโมงการทำงานและค่าจ้างจึงเป็นปัญหาตามมา  ได้มีการแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าว ด้วยการฝึกอบรมช่างฝีมือโดยวิธีการฝึกจากการทำงาน (On-the-job training) จากผลของการนำเอาระบบโรงงานมาใช้  ทำให้มีการพัฒนาในด้านการผลิตและด้านเศรษฐกิจมากขึ้น  การจัดการ (Management) ได้เป็นที่ยอมรับว่า เป็นสาขาวิชาแขนงหนึ่งต่างหากจากเรื่องการควบคุมโดยระเบียบวินัย (Discipline) ในการปฏิบัติงาน และการจัดการงานก็ได้วางระเบียบกฎเกณฑ์เน้นในเรื่องวัตถุประสงค์ (Objective) พลังร่วมของกลุ่ม (Group effort) และความสะดวกในการทำงานมากขึ้น  อย่างไรก็ดี ระยะนี้นับว่าบรรดานายทุนมีอิทธิพลทั้งในทางการเมืองและการค้นคว้า  ปรัชญาการจัดการ หรือการบริหารธุรกิจจึงเป็นไปในรูปที่มุ่งหวังกำไรมากกว่าอย่างอื่น  ผลประโยชน์ของนายทุนเป็นเป้าหมายสำคัญ  ส่วนผลประโยชน์ของผู้ร่วมงาน และผู้บริโภคไม่ได้รับการสนใจเท่าที่ควร  ชั่วโมงการทำงานของคนงาน  พนักงานลูกจ้างทั่วไปยาวนาน  ค่าแรงงานถูก  รายได้ต่ำ  การผูกขาดตัดตอนมีอยู่อย่างแพร่หลาย  แต่ช่วงของเวลานี้ก็ไม่นานนัก  ในตอนต้นศตวรรษที่ 19  ได้เกิดวิวัฒนาการทางการจัดการขนานใหญ่เรียกว่า “การจัดการแบบวิทยาศาสตร์” (Scientific Management) ซึ่งเป็นผลของวิวัฒนาการสมัยใหม่ระยะแรก อันนำไปสู่การจัดการที่ดี และมีผลต่อสวัสดิภาพของคนงานในด้านการจัดการบุคคลมากขึ้นในโอกาสต่อมา