หลักในการกำหนดค่าจ้างและเงินเดือน

หลักในการกำหนดค่าจ้างและเงินเดือน

ค่าจ้างและเงินเดือนหรือเงินตอบแทนนี้  มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจูงใจในการปฏิบัติงานของคนงาน  ดังนั้น องค์การบริหารต่าง ๆ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารงานบุคคลจึงควรจะได้ทำความเข้าใจ  ศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ตลอดจนวิธีการต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการกำหนดอัตราค่าจ้างและเงินเดือน  ทั้งนี้เพื่อสามารถให้การใช้เงินตอบแทนขององค์การดำเนินไปด้วยดี  มีประสิทธิภาพ และบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างราบรื่น  โดยทั่วไปการกำหนดอัตราค่าจ้างและเงินเดือนมีปัจจัยที่สำคัญควรแก่การพิจารณาอย่างน้อย 7 ประการ คือ

1.  ระดับอัตราค่าจ้าง (Pay level) หมายถึง ระดับอัตราค่าจ้างในระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจมีอัตราอยู่ในระดับสูง ระดับปานลางหรือระดับต่ำก็ได้  เพราะระดับอัตราค่าจ้างอาจถูกกำหนดโดยการแข่งขันในตลาดแรงงาน  นโยบายขององค์การหรือฐานะทางการเงินขององค์การก็ได้

2.  โครงสร้างของค่าจ้าง(Pay structure) หมายถึง ส่วนประกอบของอัตราค่าจ้างหรือเงินเดือนและลักษณะของงาน  ซึ่งจะแบ่งออกเป็นชั้น (grade) และส่วนมากมักจะมีจำนวนเท่ากับระดับ (level) ของตำแหน่งในองค์การ  ความแตกต่างของค่าจ้าง อาจหาได้จากการประเมินผลการปฏิบัติงาน

3. การประเมินผลการปฏิบัติงาน (Performance evaluation) หมายถึง  ผลการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานใดงานหนึ่ง  ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งสามารถนำมาประกอบการกำหนดอัตราค่าจ้างในการปฏิบัติงานให้ถูกต้องได้

4.  กำหนดการจ่ายเงิน (Pay by time or output) หมายถึง การกำหนดวิธีการจ่ายค่าจ้างตอบแทนสำหรับงานแต่ละชิ้นหรือแต่ละประเภท เช่น การกำหนดการจ่ายค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ หรือจ่ายตามจำนวนชิ้นของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ เช่น จำนวนผลิตผลที่ผลิตได้เป็นชิ้นหรือโหล เป็นต้น

5.  ปัญหาพิเศษบางประการ (Special problems)  หมายถึง  การกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินค่าจ้างตอบแทนในลักษณะที่แตกต่างไปจากการกำหนดเป็นรายชั่วโมง รายชิ้น หรือรายเดือนดังกล่าวมาแล้ว  หากแต่งานนั้นมีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากตารางอัตราเงินเดือนค่าจ้างปกติที่กำหนดไว้  เช่น  การจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่ผู้เชี่ยวชาญ  พนักงานขายหรือบุคคลระดับบริหารเป็นต้น  ดังนั้น  ลักษณะการจ่ายค่าจ้างตอบแทนจึงมีลักษณะเป็นพิเศษ เช่น พนักงานขายอาจมีทั้งเงินเดือน ค่าป่วยการ หรือ ส่วนลดพิเศษตอบแทนอย่างอื่น ฯลฯ เป็นต้น

6.  ผลประโยชน์เกื้อกูล(Fringe benefit) หมายถึง  ผลประโยชน์ตอบแทนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ขององค์การได้รับเป็นพิเศษ  นอกเหนือจากเงินเดือน หรือค่าจ้างที่ได้รับอยู่เป็นปกติ ผลประโยชน์เกื้อกูลเหล่านี้อาจได้แก่บำเหน็จ บำนาญ เงินปันผลกำไร การประกันชีวิต ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ เป็นต้น

7.  การควบคุมการจ่ายค่าจ้างและเงินเดือน (Control of wage and salaries)  หมายถึง วิธีการที่ใช้ในการควบคุม  การใช้จ่ายค่าจ้างและเงินเดือนขององค์การใดองค์การหนึ่ง ซึ่งอาจมีวิธีการที่แตกต่างกันออกไป  แต่โดยทั่วไปแล้วได้แก่  การใช้วิธีการงบประมาณอัตราค่าจ้างแรงงานและการกำหนดประเภทของงาน ฯลฯ เป็นต้น