เทคนิคที่ใช้ในการพัฒนาการจัดการ

เทคนิคที่ใช้ในการพัฒนาการจัดการ (Management Development Techniques) เมื่อองค์การได้ค้นพบปัญหาความจำเป็นที่ต้องมีการพัฒนาการจัดการแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณากำหนดต่อไปว่า จะใช้วิธีพัฒนานักบริหารของตนด้วยวิธีใด อย่างไร เทคนิควิธีการอบรมบางอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว อาจจะสามารถนำมาใช้ได้บ้างในที่นี้ แต่อย่างไรก็ตามสำหรับเทคนิควิธีการที่จะใช้เพื่อการพัฒนาการจัดการได้อย่างแท้จริงโดยตรง ก็จะเป็นเครื่องมืออีกกลุ่มหนึ่งที่จะได้พูดในที่นี้ ผู้ชำนาญการหลายคนได้ชี้ปัญหาให้ทราบว่า แผนการพัฒนาการจัดการที่มีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารทุกคนจะต้องมีทัศนคติที่ดีที่มีความตั้งใจจะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น ถ้าหากผู้บริหารไม่ตระหนักถึงความจำเป็นและความสำคัญในการพัฒนา หรือไม่สนใจที่จะมาเสียแรงเหนื่อย เพื่อการพัฒนาให้รับกับการเปลี่ยนแปลงแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่จะต้องจูงใจหรือชักนำให้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและเสริมสร้างให้เกิดความต้องการขึ้น แผนการพัฒนาการจัดการจะมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ในที่สุดย่อมขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละบุคคลที่จะมีความสนใจต่อการพัฒนาและศึกษาต่อเนื่องจากตัวผู้บริหารนั้น ๆ เอง ว่ามีมากน้อยเพียงใด หน่วยงานต่าง ๆ อาจจะมีการจัดโครงการพัฒนานักบริหารหรือการพัฒนาการจัดการนี้ต่างกันออกไป ทั้งในรูปแบบที่จัดขึ้นอย่างเป็นทางการ หรือกระทำอย่างไม่เป็นทางการ กล่าวคือวิธีหนึ่งที่องค์การสามารถจัดทำขึ้นอย่างเป็นทางการ และถือเป็นเรื่องนโยบายที่แน่นอนที่จะพัฒนานักบริหารใหม่ ๆนั้น อาจจะกระทำได้2วิธี คือ การปรับหรือสร้างให้มีวิธีการซึ่งมีการทำงานคู่กันเพื่อให้มีประสพการณ์เรียนรู้งานและถ่ายทอดความสามารถระหว่างกันในองค์การ ซึ่งนับว่าเป็นวิธีที่มีประโยชน์ วิธีหนึ่งที่เป็นการจัดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ และวิธีที่สองที่เป็นการพัฒนาการจัดการอย่างเป็นทางการ ก็คือ การใช้วิธีการจัดเป็นโครงการนอกหน้าที่งาน ซึ่งในที่นี้ผู้บริหารหรือผู้บริหารในอนาคตจะได้รับโอกาสให้ลาหรือละจากงานสำหรับช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อไปแสวงหาความรู้ความสามารถเพิ่มเติม และพัฒนาทัศนคติใหม่ ๆ

ลักษณะและความสำคัญของการพัฒนาการจัดการ

การพัฒนาการจัดการ (Management Development) หมายถึง กระบวนการซึ่งจะช่วยให้ผู้บริหารได้มีโอกาสได้รับประสบการณ์ ความชำนาญ ตลอดจนทัศนคติใหม่ ๆ ที่ถูกต้อง ที่จะเป็นผู้นำที่สมบูรณ์แบบและสามารถประสพความสำเร็จในฐานะของหัวหน้างานที่ดี ในบทที่ผ่านมาที่เกี่ยวกับการฝึกอบรมนั้น วิธีการและเทคนิคที่ใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพ ผลงานและความพอใจต่าง ๆ นั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องที่กระทำกับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการที่เป็นเสมียนพนักงาน ตลอดจนพนักงานบริการและพนักงานดำเนินการต่าง ๆ แต่สำหรับกรณีของโครงการ พัฒนาระดับนักบริหารหรือการฝึกอบรมนักบริหารนั้น จะแตกต่างในแง่ที่หมายถึง กระบวนการ วิธีการ และเทคนิคที่เกี่ยวกับการเสริมสร้างความสามารถของความเป็นนักบริหารให้แก่ผู้บริหารงานในระดับ ต่าง ๆ ตลอดจนผู้บริหารในกลุ่มวิชาชีพด้วย เจ้าหน้าที่ชั้นบริหารและเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ กลุ่มนี้นับเป็นกลุ่มที่สำคัญยิ่งต่อความสำเร็จขององค์การโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงาน ด้วยเหตุนี้องค์การทุกแห่งจึงตระหนักถึงปัญหาและเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องให้บุคคลากรกลุ่มนี้ของตนทันสมัยและก้าวหน้าอยู่เสมอ รวมทั้งต้องให้อยู่ในภาวะที่พร้อมจะมุ่งมั่นทำประโยชน์ให้สำเร็จในภาระกิจที่สำคัญ ในที่นี่จึงจะได้พิจารณาถึงเรื่องราวของการพัฒนานักบริหารหรือการพัฒนาการจัดการโดยละเอียด ทำนองเดียวกันกับงานด้านการฝึกอบรม แผนงานทางด้านการพัฒนาการจัดการและการพัฒนาพนักงานวิชาชีพ ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมที่มีความสัมพันธ์โดยตรงต่องานทางด้านการบริหารงานบุคคล แผนงานทางด้านการพัฒนานักบริหารหรือพัฒนาการจัดการนี้ มักจะโยงต่อเนื่องมาจากผลของการจัดทำแผนงานที่เกี่ยวกับการพนักงาน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายหรือเน้นที่จะชี้ให้เห็นถึงความจำเป็น หรือความต้องการเกี่ยวกับพนักงานระดับบริหารของหน่วยงาน ซึ่งมักจะมีความต่อเนื่องกับการวางแผนเพื่อความก้าวหน้าในสายงานด้วย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มักจะต้องเกี่ยวข้องต่อเนื่องจากขั้นตอนของการประเมินผลการปฎิบัติ และมักจะทำควบคู่กันกับเรื่องของการเลื่ยนขั้นลำดับ ซึ่งในที่นี้ก่อนที่จะมาถึงการกำหนดเป็นแผนงานด้านการพัฒนาการจัดการได้นั้น การประเมินเกี่ยวกับตัวพนักงาน (Employee Evaluation) ที่จะได้รู้ถึงขอบเขตความสามารถที่จะมีโอกาสพัฒนาเป็นนักบริหารที่สูงขึ้นต่อไปได้มากน้อยเพียงใด จะเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดที่ต้องทำโดยละเอียดก่อน สาระสำคัญที่จำเป็นจะต้องทราบประการหนึ่งก็คือ แผนการพัฒนาการจัดการที่ได้ผลดีนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการสนับสนุนและได้รับความร่วมมือจากผู้บริหารระดับสูงสุด ปัญหานี้ […]

3. ความหมายของการบริหารงานบุคคล – ระบบการบริหารงานบุคคล

การบริหารงานบุคคลนี้แปลมาจากคำว่า Personnel Administration บ้าง  จากคำว่า  Management of Human Resources บ้าง จาก Personnel management บ้าง  และจาก  Modern Personnel Management บ้างก็มี  ส่วนคำในภาษาไทยนั้นนอกจากจะใช้คำว่า การบริหารงานบุคคลแล้ว บางทีก็เรียกว่า การบริหารงานเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่บ้าง  การจัดการบุคคลบ้าง  ฝ่ายบุคลาการบ้าง  และฝ่ายจัดการบุคคลบ้าง อย่างไรก็ดี  ผู้เขียนรักในคำที่ใช้ว่า “การบริหารงานบุคคล” เพราะเป็นคำที่มีความหมายกว้างขวางดี  เหตุว่ามนุษย์นั้น  ถ้าพิจารณากันให้ถ่องแท้แล้วก็จะเห็นว่าเป็นขุมกำลังอันใหญ่หลวง และสำคัญยิ่งต่อการบริหารงานทั้งหลายทั้งปวง  ไม่ว่าจะเป็นองค์การขนาดเล็ก หรือองค์การขนาดใหญ่ที่มีลักษณะซับซ้อนเพียงใดก็ตาม  ปัจจัยบุคคล ยังคงความสำคัญเป็นเอก และเป็นเสมือนหัวใจและรากแก้วของการบริหารอยู่เสมอ สำหรับความหมายของการบริหารงานบุคคลนั้น  อาจให้ความหมายเชิงนิยามได้ดังนี้คือ  “การบริหารงานบุคคลเป็นกระบวนการวางนโยบาย  ระเบียบและกรรมวิธี ในการดำเนินการเกี่ยวกับตัวบุคคลที่ปฏิบัติงานในองค์การ  โดยให้ได้บุคคลที่เหมาะสม และบำรุงรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรด้านมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพ ให้มีปริมาณเพียงพอ  เพื่อให้การปฏิบัติงานบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย”

ความสำคัญของการบริหารงานบุคคล

1. ความสำคัญของการบริหารงานบุคคล – ตอนที่ 1 ระบบการบริหารงานบุคคล การพัฒนาประเทศเป็นคำที่ได้ยินได้ฟังบ่อยที่สุดในปัจจุบัน  การพัฒนาประเทศ หมายถึง การระดมปัจจัยต่าง ๆ เช่น กำลังคน กำลังเงิน ทรัพยากรธรรมชาติ วัสดุ เครื่องมือเครื่องใช้ เทคนิค ตลอดจนกำลังอำนาจแห่งชาติ  เพื่อความเจริญก้าวหน้าตามแผนและเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยนัยดังกล่าว  การพัฒนาประเทศจึงจำต้องพัฒนาทั้งในด้านการบริหาร(Administrative Development)และพัฒนาด้านบุคคล(Human Resources Development) ให้เจริญก้าวหน้าได้ส่วนสัดทัดเทียมกัน  หรือสอดคล้องกันทั้งในด้านรัฐกิจ(Public sector) และด้านธุรกิจ(Business sector) ถ้าจะกล่าวโดยสรุปก็จะเห็นว่าในบรรดาปัจจัยที่ใช้พัฒนาประเทศนั้น  กำลังคนนับได้ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด  เพราะเหตุว่าถ้ามีจำนวนคนพอสมควร  มีความรู้ความสามารถเหมาะสมแก่หน้าที่การงาน  และมีการจัดการที่ดีแล้ว  โอกาสที่จะทำงานให้ได้รับผลดีและประหยัดย่อมง่ายขึ้นเป็นอันมาก  จนอาจกล่าวได้ว่า “คนสำคัญยิ่งกว่าเงินและสิ่งของมากมายนัก เพราะถ้าคนสามารถแล้ว  ทุกสิ่งทุกอย่างจะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีและรวดเร็ว” อย่างไรก็ตามมีความจริงอยู่อย่างหนึ่งเกี่ยวกับตัวบุคคลนี้ว่า  การจะหาคนที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมแก่ทุกตำแหน่งทุกระดับชั้นนั้น  เกือบเป็นสิ่งสุดวิสัย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงงานรัฐบาลซึ่งมีขอบเขตการปฏิบัติงานที่กว้างขวาง  ต้องใช้คนเป็นจำนวนหมื่น  จำนวนแสน  และมิใช่แต่ประเทศไทยเท่านั้นที่เผชิญกับปัญหานี้  รัฐบาลและองค์การของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างก็เคยและกำลังเผชิญกับปัญหานี้อยู่ตลอดมา  มากบ้าง น้อยบ้าง ตามสถานการณ์แวดล้อม นักวิชาการหลายท่านได้พยายามศึกษาค้นคว้าเพื่อจะหาทางแก้ไขหรือบรรเท่าปัญหาเรื่องการขาดแคลนเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถและเหมาะสมในการปฏิบัติงานนี้ให้น้อยลง  และได้พบว่าการบริหารงานบุคคลที่ดีเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้เป็นอันมาก