การพัฒนามนุษยสัมพันธ์ในการพัฒนาองค์การ

การพัฒนาความสามารถในทางมนุษยสัมพันธ์หรือการเข้ากับ คน และการพัฒนาองค์การ (Interpersonal Skills and Organi­zation Development) นอกเหนือจากเรื่องที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การพัฒนาการจัดการเป็นสิ่งที่พึงต้องทำเพื่อให้การตัดสินใจที่เป็นความสามารถทางการบริหารในเรื่องต่าง ๆ ดีขึ้น นั่นเป็นเรื่องการตัดสินใจในเรื่องเกี่ยวกับงานเท่านั้น ความหมายของการพัฒนาการจัดการที่ถูกต้องควรจะครอบคลุมถึงอีกส่วนหนึ่ง นั่นคือการพัฒนาความสามารถในการเข้ากับคน (Interpersonal Skills) และการมีทัศนคติในทางบริหารที่ถูกต้อง เป้าหมายของการจัดแผนงานเพื่อพัฒนาความสามารถในเชิงมนุษยสัมพันธ์นี้ วัตถุประสงค์ที่แท้จริงก็คือ การพยายามเปลี่ยนทัศนคติควบคู่กับการเสริมสร้างความชำนาญในเรื่องนี้โดยตรง องค์การธุรกิจส่วนมากในสมัยปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและการฝึกอบรมให้มีความสามารถในเชิงมนุษยสัมพันธ์ด้วยเหตุผลหลายประการ คือ 1.  เพื่อที่จะปรับปรุงหรือยกระดับประสิทธิภาพให้กับพนักงานของตนโดยเฉพาะในตำแหน่งที่รับผิดชอบในทางการบริหาร หรือที่เป็นหัวหน้าคน เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงานประจำวัน หรืออาจเป็นการเสริมสร้างให้เป็นกรณีพิเศษก็ตาม 2.  เพื่อที่จะเป็นเครื่องมือแก้ไขให้เป็นผู้มีความสามารถในการอบรมและสัมมนาเกี่ยวกับการทำงาน ที่จะสามารถสอนลูกน้องดีขึ้น หรือไม่ก็เป็นการช่วยเหลือให้พนักงานที่เป็นหัวหน้าเหล่านั้นสามารถที่จะปรับทัศนคติหรือปรับตนเองให้เข้ากับการทำงานในสภาพแวดล้อมที่แปลกออกไป 3.  เพื่อที่จะช่วยให้ผู้บริหารขององค์การรู้จักและเข้าใจตัวเองดีขึ้น และสามารถเผชิญกับปัญหา สภาพความเป็นจริงที่เป็นอยู่ตามลักษณะของความเป็นอยู่สมัยใหม่ได้ด้วย ความทันสมัยของคนอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นเป้าหมายของเรื่องนี้โดยตรง แผนงานด้านนี้ในส่วนที่มุ่งพยายามเสริมสร้างทัศนคติในทางการบริหาร โดยเฉพาะการหวังผล ในเรื่องแก้ไขทัศนคติและความสามารถที่จะเข้ากับคนได้ ถ้าหากมองกว้างไปถึงการพยายามสร้างบรรยากาศในองค์การ ที่จะให้ครอบคลุมถึงทุกส่วนทั่วทั้งบริษัทแล้ว แผนงานเหล่านั้นเราเรียกว่าเป็น แผนพัฒนาเกี่ยวกับองค์การ (Organization Development หรือ OD) ซึ่งเป็นความพยายามที่จะให้บรรยากาศขององค์การเป็นไปโดยคล่องตัวและมีผู้นำในแบบที่เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นนั่นเอง

การจัดการตามแนวมนุษยสัมพันธ์

2.  การจัดการตามแนวมนุษยสัมพันธ์ (Human Relations Approach)  การจัดการตามแนวมนุษยสัมพันธ์นี้ ได้รับความสนใจมากในตอนปลายศตวรรษที่ 19  ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ  บรรดานักจิตวิทยา  สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา  ได้ให้ความสนใจศึกษาเกี่ยวกับสภาพการทำงานของคนงานในแง่ต่าง ๆ  โดยเฉพาะหลังจากที่ได้มีการตื่นตัวในเรื่องการจัดการแบบวิทยาศาสตร์  ซึ่งเป็นวิธีการจัดการ ที่มุ่งพิจารณาในเรื่องเหตุและผลของการทำงานเป็นสำคัญ  ส่วนองค์ประกอบในด้านบุคคล  ซึ่งแท้จริงแล้วมีความสัมพันธ์อย่างยิ่ง ต่อการผลิตกลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร  แม้จะมีการศึกษาค้นคว้าบ้าง  แต่ก็เป็นเพียงเฉพาะในส่วนของปัจเจกชน (Individual) เท่านั้น  มิได้กระทำในรูปของกลุ่มสังคม (Social group) ระยะหลังนี้ ได้มีกลุ่มนักวิชาการ ได้ให้ความสนใจศึกษาเกี่ยวกับองค์ประกอบในด้านบุคคลในการผลิตมากขึ้น  กลุ่มนี้ได้ศึกษาการจัดการตามแนวความคิดใหม่ที่เรียกว่า Human Relations Approach การจัดการตามแนวมนุษยสัมพันธ์นี้  ได้มุ่งพิจารณาในเรื่องความสำคัญของบุคคล  ในฐานะเป็นองค์ประกอบของการจัดการ ยิ่งกว่าการศึกษาในเรื่องวิธีการจัดการตามแบบวิทยาศาสตร์  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ  พิจารณาบุคคลในลักษณะที่เป็นพลวัต (Dynamic) แทนที่จะพิจารณาในลักษณะเป็นเพียงองค์ประกอบทางกายภาพ (Physical)  ขององค์การ  ทั้งยังได้ย้ำในเรื่องความสำคัญของบุคคลเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านการบริหารงานบุคคลและการบำรุงรักษาทรัพยากรบุคคล  ผลของการศึกษาค้นคว้า ด้านการจัดการตามแนวมนุษยสัมพันธ์ที่ได้รับการยกย่องมาก คือ การศึกษาทดลองที่เรียกว่า “Hawthorne Experiment”  โดยมีศาสตราจารย์ George Elton Mayo […]