ขั้นตอนของกระบวนการบริหารงานบุคคล

ในทัศ่นะของผู้เขียนเห็นว่า  กระบวนการของการบริหารงานบุคคลนั้น  จะประกอบด้วยขั้นตอนมากน้อยเพียงไร  หาใช่สิ่งสำคัญไม่  เพียงแต่ว่า ถ้ามีขั้นตอนน้อยก็ต้องกำหนดขอบเขตให้ครอบคลุุมกิจการต่าง ๆให้ครบถ้วน  หากเป็นขั้นตอนที่จำแนกไว้โดยละเอียด  ก็จะสามารถกล่าวถึงกิจกรรมแต่ละขั้นตอนได้มาก  ทำให้ศึกษาและเข้าใจได้ง่าย  อย่างไรก็ดี  ขั้นตอนของกระบวนการบริหารงานบุคคลน่าจะประกอบด้วย 1.  การวางแผนเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล 2.  การสรรหาบุคคล 3.  การกำหนดอัตราเงินเดือนและค่าจ้าง 4.  การประเมินผลการปฏิบัติ    งานและการปูนบำเหน็จ 5.  การปกครองบังคับบัญชา 6.  การพัฒนาบุคคล 7.  การจัดประโยชน์เกื้อกูลอื่น ๆ 8.  การวิจัยเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล กรณีจะเป็นเช่นไรก็ตาม  เหตุที่การบริหารงานบุคคล มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการบริหารงานและการจัดองค์การอยู่มาก  มีวิวัฒนาการอันยาวนาน  โดยเฉพาะในด้านการบริหารธุรกิจ  ดังนั้น จึงน่าจะได้ศึกษาถึงวิวัฒนาการของการจัดการดังกล่าวสักเล็กน้อย  เพื่อเป็นสะพานเชื่อมโยงแนวความคิด ในการศึกษาที่เกี่ยวข้องดังกล่าวให้เข้าใจยิ่งขึ้น

การบริหารงานบุคคลแผนใหม่

ตอนที่ 1 ระบบการบริหารงานบุคคล บทบาทของการบริหารงานบุคคล  การบริหารงานนั้น  จุดมุ่งหมายสำคัญอยู่ที่ต้องการให้งานบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างประหยัด  มีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล และพัฒนาอยู่เสมอ ทรัพยากรพื้นฐานของการบริหารงานคือ  คน เงิน วัสดุสิ่งของ และวิธีจัดการ  ในบรรดาปัจจัยเหล่านี้  คนนับว่ามีความสำคัญเป็นเอก  ทั้งนี้เพราะว่า  ทรัพยากรบุคคลนี้นอกจากจะมีความสำคัญเด่นในด้านทรัพยากรการบริหารแล้ว  บุคคลยังมีบทบาทสำคัญในขั้นตอนของกระบวนการบริหาร  ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ 5 ประการคือ  การวางแผนงาน  การจัดองค์การ  การจัดเกี่ยวกับบุคคล การประสานงาน และการควบคุมงาน ในบรรดาองค์ประกอบเหล่านี้ การจัดการเกี่ยวกับบุคคล  โดยเฉพาะการสรรหาผู้มีความรู้ความสามารถมาปฏิบัติงานและการทำนุบำรุงดูแลให้บุคคลเหล่านั้น  ได้ใช้ความรู้ความสามารถอย่างเหมาะสมเต็มที่  นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด  เหตุว่าการบริหารงานที่ดีย่อมต้องอาศัยบุคคลที่ดี  มีความรู้ความสามารถ และการที่จะได้บุคคลที่ดีเข้ามาปฏิบัติงานและธำรงรักษาไว้ก็จำต้องมีการบริหารงานบุคคล(Personnel Administration)ที่ดีด้วย โดยความสำคัญดังกล่าวมานี้  นักบริหารที่ดีและสามารถจึงพึงเสริมสร้างดูแล  เอาใจใส่ทำนุบำรุงรักษาให้ทรัพยากรบุคคลอยู่ในสภาพที่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างดี  มีประสิทธิภาพ และมีจำนวนเพียงพออยู่เสมอ ศาสตราจารย์ Joseph B. Kingsbury ได้กล่าวถึงความสำคัญของการบริหารงานบุคคลไว้อย่างสั้นและรัดกุมว่า “พิจารณาในทุกแง่ทุกมุมแล้วก็จะประจักษ์ว่า  การบริหารงานบุคคลเป็นส่วนสำคัญที่สุดของการบริหาร”