ความรับผิดชอบในการจัดการฝึกอบรมพนักงาน

ในองค์การที่มีขนาดใหญ่ ส่วนมากฝ่ายการพนักงานมักจะเป็นผู้เข้าไปช่วยเหลือหัวหน้างานในสายงานต่าง ๆ ในการจัดกิจกรรมด้านการฝึกอบรมให้ ซึ่งลักษณะการจัดและบริการที่ให้นั้นมีตั้งแต่การเข้าไปช่วยจัดโปรแกรม ตลอดจนการจัดหมายกำหนดการฝึกอบรมและการจัดชั้นเรียนที่รวมไปถึงการช่วยคัดเลือกและการช่วยให้การอบรมแก่ผู้ที่จะเป็นผู้อบรม หรือ “Training the Trainer” รวมตลอดทั้งการช่วยจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่เป็นเครื่องช่วยในการฝึกอบรม และการเป็นตัวกลางในการประสานกับหน่วยงานที่ให้บริการในการอบรมจากภายนอก เช่น สถาบันการศึกษา และหน่วยงานของรัฐ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในองค์การที่มีขนาดใหญ่มาก ๆ นั้น งานทางด้านการฝึกอบรมนี้มักจะมีการแยกตัวออกเป็นหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ เป็นเอกเทศที่จะทำหน้าที่ด้านการฝึกอบรมนี้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วนทุกด้าน และมักจะมีความสัมพันธ์โดยตรงที่ให้ขึ้นอยู่กับฝ่ายที่จะเกี่ยวกับการพนักงาน แต่สำหรับองค์การที่มีขนาดเล็ก ซึ่งจำนวนพนักงานมีน้อย การมีหน่วยฝึกอบรมโดยตรงนั้น ย่อมเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ดังนั้นงานฝึกอบรมส่วนใหญ่ในระยะเริ่มแรกจึงมักตกอยู่กับผู้บังคับ บัญชาหรือผู้บริหารที่เป็นหัวหน้างานโดยตรงที่จะเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้เอง

สำหรับหน่วยงานขนาดเล็ก เนื่องจากการจัดฝึกอบรมด้วยตนเองอาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่น้อย ตลอดจนถ้าผู้บริหารงานในสายงานเป็นผู้จัดทำเอง ก็อาจจะถูกจำกัดด้วยเวลา ในกรณีเช่นนี้หลายหน่วยงานจึงมักนิยมใช้วิธีส่งพนักงานของตนไปใช้บริการการฝึกอบรมในภายนอกที่มีบริการมากขึ้น เช่น สถาบันการศึกษา สมาคมวิชาชีพ ตลอดจนหน่วยงานของรัฐที่พยายามให้บริการด้านนี้อยู่บ้าง ซึ่งย่อมจะเป็นการประหยัดต้นทุนและได้ประโยชน์ตามสมควร อย่างไรก็ตามการอาศัยบริการการฝึกอบรม จากภายนอกย่อมมีผลเสียที่จะเกิดความไม่คล่องตัว ที่จะไม่สามารถให้การฝึกอบรมได้ผลเป็นการ จำเพาะสำหรับพนักงานของตนตามที่ต้องการ ขอบเขตการใช้บริการจากภายนอกส่วนใหญ่จึงมักจะเป็นไปในทำนองของการให้พนักงานได้มีโอกาสฝึกอบรมหรือศึกษาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องทั่วไปที่จะเป็นพื้นฐานกว้าง ๆ เท่านั้น และการฝึกอบรมเพิ่มเติมในข้อที่เกี่ยวกับการปฏิบัติที่ต้องการมากที่สุด นั้น ก็จะดำเนินการได้เป็นการภายในโดยไม่ต้องเสียเวลามากนัก ซึ่งก็ย่อมจะช่วยให้ได้ผลสมบูรณ์ขึ้น