ความสำคัญของการจ่ายค่าตอบแทนที่มีต่อนายจ้าง

ในองค์การส่วนมากค่าจ้างมักจะเป็นต้นทุนรายการสำคัญที่สุดของการดำเนินงาน  โดยเฉพาะในธุรกิจหรือหน่วยงานที่ไม่สามารถที่จะใช้สิ่งอื่นมาทดแทนแรงงานได้  กล่าวคือในธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานมาก ๆ เช่น ในอุตสาหกรรมทอผ้า อุตสาหกรรมต่อเรือ ตลอดจนการสร้างรถยนต์  ซึ่งค่าจ้างแรงงานมักจะมีต้นทุนถึง 40% ของต้นทุนทั้งหมด  ดังนี้การขึ้นของเงินเดือนค่าจ้างจึงมักมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตมากกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ซึ่งมีการใช้แรงงานน้อยกว่า  ดังนั้นจึงควรที่จะได้เข้าใจถึงลักษณะที่เกี่ยวกับแรงงานว่าเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงได้เสมอ  ซึ่งความไม่แน่นอนนี้มิใช่เฉพาะการเปลี่ยนแปลงในจำนวนเงินที่จ่ายเท่านั้น  แต่ยังครอบคลุมไปถึงสิ่งที่สัมพันธ์กัน คือผลผลิตที่จะได้รับจากพนักงานด้วย  นั่นคือ ถึงแม้ว่าจะได้มีการจ่ายแรงงานให้กับพนักงานในอัตราที่สูงสุด หรือสูงมากแล้วก็ตาม ก็จะยังไม่เป็นการแน่นอนเสมอไปว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี กล่าวคือ ถ้าหากผลผลิตได้ผลออกมาสูงมาก ต้นทุนก็ควรจะต่ำลงหรือถูกที่สุดด้วยก็ได้ หรือในทางกลับกันการที่จ่ายค่าจ้างให้กับพนักงานได้ต่ำที่สุดก็อาจจะกลายเป็นต้นทุนแรงงานที่สูงที่สุด  เพราะเหตุอันเนื่องมาจากผลงานต่ำมากกว่าก็เป็นได้  การที่คนงานจะอุทิศทำงานตอบแทนให้คุ้มค่ากับค่าจ้างเพียงใดนั้น ส่วนมากมักจะขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของระบบการจ่ายค่าจ้างเงินเดือน  ที่จะมีส่วนช่วยเป็นกลไกในการกระตุ้นให้เขาเหล่านั้นอุทิศกำลังกายกำลังแรงงาน กำลังความคิด ได้มากน้อยเพียงใด ทำนองเดียวกันกับงานด้านอื่นของการบริหารบุคคลด้วย

นอกจากนี้การสามารถมีอัตราการจ่ายตอบแทนที่สูงเด่นกว่าคนอื่น  ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชุมชนนั้น ๆ เช่นกัน  ทั้งนี้เพราะการจ่ายอย่างพอเพียงย่อมจะเป็นการช่วยให้เกิดความมั่นคงและมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่มีมาตรฐานการครองชีพที่ดีอีกด้วย  ระดับค่าจ้างที่สูงนั้นมักจะให้ผลในทางอ้อมที่จะทำให้รายได้ของรัฐที่ได้จากการจัดเก็บภาษี สามารถเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยและเอื้ออำนวยให้สวัสดิการของสังคมในด้านต่าง ๆ ตลอดจนสถานภาพความเป็นอยู่ของสังคมโดยทั่วไป  ทั้งในแง่สุขภาพอนามัยและการศึกษาดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมให้มีอำนาจซื้อที่จะกระตุ้นให้เกิดความสมบูรณ์และเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและชุมชนโดยส่วนรวม บ่อยครั้งที่แม้สภาพเศรษฐกิจจะตกต่ำมาก  การแก้ไขอย่างถูกต้องด้วยการจ่ายตอบแทนที่มากกว่า อาจจะมีส่วนในการแก้ไขปัญหา  โดยช่วยกระตุ้นให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ในจุดที่ต้องการได้ ดังนั้นการกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่แตกต่าง โดยให้ในท้องถิ่นห่างไกลในภูมิภาคมีอัตราต่ำกว่าในนครหลวงจึงมิใช่วิธีที่ถูกต้องในหลักเหตุผล ฉันใดก็ฉันนั้น  มักจะปรากฎอยู่เสมอว่าท้องถิ่นใดที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำ  หรือมีการลดบัญชีการจ่ายเงินเดือนมาก ๆ นั้น  มักจะส่งผลในทางไม่ดีที่ทำให้คนทั่วไปยากจนลงและขาดเงินทองที่จะจับจ่ายใช้สอยเพื่อจะดำรงชีพให้อยู่ในฐานะที่ดีตามสมควร  และมักจะเป็นผลพลอยทำให้บริการทางสังคมในชุมชนนั้นขาดปัจจัยสนับสนุน ดังนั้นการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยรัฐบาลเองหรือนโยบายทางการเมือง จึงมักจะมีผลโดยตรงต่อระดับการจ้างงานท้องถิ่นและต่อปริมาณเงินเดือนที่จ่าย  และมักจะส่งผลทำให้เกิดปฏิกิริยากระทบต่อบุคคลต่าง ๆ