วิธีการฝึกอบรมพนักงาน

มีแตกต่างกันหลายวิธีด้วยกัน บางองค์การที่มีขนาดใหญ่มักจะใช้หลายๆวิธีควบกันอยู่ แต่อย่างไรก็ตามได้มีบางวิธีที่เป็นที่นิยมค่อนข้างมาก การที่จะเลือกใช้วิธีใดนั้นย่อมขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการฝึกอบรมเป็นสำคัญ นอกจากนั้นยังขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ทำการอบรม และของผู้ที่จะเข้าทำการอบรมด้วย ปัจจัยอื่น ๆ เช่น จำนวนผู้เข้าอบรม ตลอดจนระดับที่ทำการอบรม และเวลาค่าใช่จ่าย ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่มีส่วนกำหนดในการอบรม วิธีการอบรมที่สำคัญมีดังต่อไปนี้คือ

1. On the job training หรือที่เรียกอีกช่อหนึ่งว่า “Job Instruction Training”

วิธี On the job training เป็นวิธีที่ใช้มากที่สุดวิธีหนึ่งในการใช้อบรมพนักงาน วิธีนี้การอบรมจะกระทำโดยให้ผู้บังคับบัญชา หรือโดยพนักงานอาวุโสเป็นผู้รับผิดชอบในการให้การอบรมแก่พนักงานโดยตรง ข้อดีของวิธีนี้ก็คือ ช่วยให้พนักงานได้มีโอกาสได้เรียนรู้จากผู้ที่มีความสามารถที่เป็นมือหนึ่ง ในเรื่องนั้นโดยตรง และสามารถทำการอบรมในขณะปฏิบัติงานด้วยสภาพแวดล้อมจริง แต่อย่างไรก็ตามวิธีนี้อาจจะมี ข้อเสียอยู่บ้าง กล่าวคือถ้าหากผู้บังคับบัญชาที่ทำการสอนนั้น มุ่งเน้นถึงผลการผลิตมากกว่าการสนใจระมัดระวังให้มีการเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการทำงานที่มีประสิทธิภาพแล้ว ผลก็จะ ไม่ได้เท่าที่ควร แต่ถ้าหากให้มีเวลาพอเพียงสำหรับการอบรมตามวิธีนี้และค่อยเป็นค่อยไป โดยมุ่งพยายามแก้ไขข้อผิดพลาดอยู่ตลอดเวลาในขณะที่พนักงานผู้เข้าอบรมได้ทดลองทำแล้ว ก็นับว่าวิธีนี้จะให้ประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง ประโยชน์หรือผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นจากการใช้วิธีนี้อีกประการหนึ่งก็คือ ผู้บังคับบัญชาได้โอกาสสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ใต้บังคับบัญชาพร้อมกันไปด้วย

วิธีการฝึกอบรมแบบ On the job training ที่มีการจัดระบบอย่างสมบูรณ์ วิธีหนึ่งก็คือ JIT (Job Instruction Training) ที่ได้พัฒนาขึ้นมาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งวิธีการจะเริ่มต้น โดยการให้การฝึกอบรมแก่หัวหน้างานก่อน แล้วจึงให้นำไปฝึกอบรมใช้กับคนงานอีกต่อหนึ่ง ซึ่งขั้นตอนของวิธีการจะมีดังนี้ ดังปรากฏจากตัวอย่างของ War Manpower Commission’s Bulletin, ชื่อ “Training within Industry Series ในปี 1945 ดังนี้

วิธีการอบรมแบบ Job Instruction Training

–                                            ลำดับแรก ที่ท่านจะต้องทำเพื่อให้มีการเตรียมตัวพร้อมสำหรับการสอนงาน คือ

1. กำหนดและตัดสินว่า ถ้าจะให้คนงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดและถูกต้องแล้ว เขาจะต้องได้รับการสอนในเรื่องอะไรบ้าง

2. จัดเตรียมสิ่งเหล่านี้ให้มีพร้อมไว้ทุกอย่าง ทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ วัสดุและวัตถุดิบ

3.  จัดที่ทำงานให้ถูกต้องเหมาะสม และให้เป็นรูปแบบเดียวกันที่ต้องการหรือหวังจะให้คนงานรักษาให้อยู่ในสภาพที่กำหนดตลอดเวลา

–                                            จากนั้นให้ลงมือสอนงานแก่คนงาน โดยปฎิบัติตามลำดับทั้ง 4 ขั้น ดังนี้ ขั้นที่ 1. – เตรียมการ (เกี่ยวกับตัวผู้เข้าอบรม)

ก) ให้ผู้เข้าอบรมอยู่ในสภาพที่พร้อม

ข) ค้นหาข้อเท็จจริงว่าเขาไม่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับงานอะไรบ้าง

ค) กระตุ้นให้เขามีความสนใจและต้องการที่จะเรียนรู้งานให้มากไว้

ขั้นที่ 2. – การแสดงให้ดู (ถึงวิธีทำงานและความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน)

ก) โดยวิธีบอกกล่าว, ชี้ให้เห็น, ให้อรรถาธิบาย และตั้งคำถาม เพื่อที่จะให้ความรู้ใหม่ และวิธีทำงานใหม่ที่ถูกต้องให้เห็นปรากฏออกมา

ข) ให้คำแนะนำที่ชัดแจ้ง ครบถ้วนทีละจุด ๆ อย่างช้า ๆ

ค) ตรวจสอบดูว่าเข้าใจไหม พร้อม ๆ กับการตั้งคำถาม และทดลองทำให้ดูชํ้าอีกครั้ง

ง) จนกว่าจะแน่ใจว่า ผู้เข้ารับการอบรมได้เข้าใจจริง ๆ

ขั้นที่ 3. – ให้มีการทดลองทำเอง

ก) ทดสอบผู้เข้าอบรมโดยให้เขาทดลองทำงานนั้นด้วยตนเอง

ข) ตั้งคำถามบ่อย ๆ โดยเริ่มต้นด้วยการถามว่า ทำไม, อย่างไร, เมื่อใด, ที่ไหน

ค) สังเกตการณ์ดูการทำงานแล้วคอยแก้ไขข้อผิด และถ้าจำเป็นก็ทดลองทำให้ดูใหม อีกครั้ง

ง) ทำเช่นนี้เรื่อยไปจนกระทั่งแน่ใจว่าคนงานได้เข้าใจแล้ว

ขั้นที่ 4. – การติดตามผล

ก) มอบให้เขาไปลงมือทำงานด้วยตนเอง

ข) หมั่นตรวจสอบดูบ่อย ๆ ว่าเขาได้ปฏิบัติถูกต้องตามคำแนะนำ

ค) ถอนการควบคุมให้น้อยลง และติดตามโดยใกล้ชิดจนกระทั่งแน่ใจว่าเขาทำได้ดีพอ จนสามารถใช้วิธีควบคุมตามธรรมดาปกติได้

ข้อควรจำ : ถ้าผู้เข้าอบรมมิได้เรียนรู้อะไรเลย ก็ย่อมแสดงว่าผู้สอนมิได้สอนอะไรเลย

2. วิธีอบรมด้วยการจัดประชุมหรือถกปัญหา (Conference or Discussion)

วิธีนี้นับว่าเป็นวิธีให้การอบรมแบบเฉพาะตัว ซึ่งส่วนใหญ่มักจะใช่กับพนักงานเสมียน หรือพนักงานที่ปฏิบัติงานด้านวิชาชีพ, พนักงานด้านเทคนิค ตลอดจนหัวหน้างานต่าง ๆ ซึ่งมีความจำเป็นจะต้อง อบรมโดยมีการถ่ายทอดความนึกคิดระหว่างกัน การถ่ายทอดวิธีปฏิบัติงานและมาตรฐานของงานด้าน ต่าง ๆ การอบรมตามวิธีนี้ผู้เข้าอบรมส่วนมากมักจะต้องมีพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องนั้นมาโดยตรงก่อน และจะต้องมีความชำนาญในเรื่องเฉพาะด้านที่จำเป็นต่าง ๆ เช่น ทาด้านงานพิมพ์ การจดชวเลข หรือการใช่เครื่องมือสำนักงานต่าง ๆ ซึ่งในการอบรมก็จะมีการให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการทำงานเฉพาะจุดเฉพาะอย่างได้โดยตรง การอบรมโดยวิธีนี้เป็นประโยชน์ที่จะช่วยให้มีความคล่องตัวเป็นอันมากที่จะให้พนักงานได้มีโอกาสร่วม หรือได้มีโอกาสทดลองแลกเปลี่ยนแสดงความเห็นระหว่างกัน ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งสำหรับพนักงานด้านวิชาชีพ หรือพนักงานที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับงานด้านเทคนิคต่าง ๆ ที่จะต้องได้รับการส่งเสริมให้เข้าร่วมถกปัญหาร่วมกัน

3.  การอบรมงานช่างฝีมือ (Apprenticeship Training) วิธีนี้เป็นระบบของการฝึกอบรมที่ซึ่งพนักงานใหม่ที่เข้ามาจะได้รับการแนะนำและให้มีการทดลองฝึกหัดทำจนชำนาญการ จัดฝึกอบรมตามวิธีนี้จะมีการจัดทั้งในหน้าที่งานและในชั้นเรียน การอบรมนี้ก็คือการอบรมตามลักษณะที่เราเรียกว่า Apprenticeship Training หรือการฝึกหัดช่างฝีมือนั่นเอง แผนการจัดฝึกอบรมช่าง ฝีมือนี้ส่วนใหญ่มักจะกระทำโดยความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายจัดการและฝ่ายแรงงาน ตลอดจนตัวแทนในอุตสาหกรรมและรัฐบาล รวมถึงบริษัทและโรงเรียนช่างฝีมือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

4.  การอบรมในห้องบรรยาย (Class-Room Training Method) มีวัตถุประสงค์ เพื่อที่จะให้สามารถทำการอบรมแก่ผู้เข้าอบรมเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ โดยอาศัยครูผู้สอน วิธีนี้มักจะเหมาะสมกับเรี่องที่จะต้องทำการอบรมที่เกี่ยวข้องกับการบอกกล่าวให้ทราบถึงข้อมูล ตลอดจนให้คำแนะนำ ต่าง ๆ ซึ่งอาจจะกระทำโดยวิธีบรรยาย หรือวิธีแสดงหรือทดลองทำให้ดู หรืออาจใช้วิธีการฉายภาพยนตร์หรือการใช้เครื่องมือช่วยในการเรียนรู้ต่าง ๆ ถ้าหากเป็นกลุ่มที่มีขนาดเล็กที่เป็นการฝึกอบรม และการพัฒนาหัวหน้างานที่ทำหน้าที่บริหารแล้ว การใช้วิธีการให้มีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ปัญหาด้วยกัน มักจะนำมาใช้ประกอบควบคู่กันอยู่เสมอ เช่น การใช้วิธีให้แสดงบทบาท (Role Playing) การสำรวจจุดอ่อนจุดบกพร่องของแต่ละฝ่าย (Sensitivity Training) การใช้กรณีศึกษา (Discussion of Cases) เป็นต้น

การอบรมแบบใช้ห้องเรียนอีกวิธีหนึ่งที่ใช้มากเช่นกัน ก็คือ การให้ทดลองทำในห้องทดลอง (Vestibule Training) วิธีนี้ผู้เข้าทำการอบรมจะได้รับการบอกกล่าวเกี่ยวกับวิธีการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในห้องทดลอง ก่อนที่จะให้เขาลงมือทำงานจริง ๆ ข้อดีของ Vestibule Training ก็คือ จากการให้การฝึกอบรมโดยให้เรียนรู้งานโดยทดลองให้ทำในห้องทดลองที่จัดขึ้นต่างหาก ที่ให้มีสภาพใกล้เคียงกับที่เป็นจริงมากที่สุดนี้ จะช่วยให้สามารถแยกให้พนักงานหัดทำได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องเข้าไปขัดจังหวะหรือเข้าไปทำให้การผลิตตามปกติต้องเสียเวลาไป จุดเน้นของวิธีนี้ความสำคัญจึงอยู่ที่ตัวผู้สอนมากกว่าการผลิต นอกจากนี้การฝึกอบรมโดยมีการให้อยู่ในสภาพของห้องทดลองที่สามารถควบคุมได้ มากกว่าที่จะเข้าไปห้องทำงานจริงทันที ก็ย่อมจะช่วยให้เกิดประโยชน์สามารถประเมินผลความก้าวหน้าของผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้แม่นยำถูกต้องกว่าการใช้วิธีให้ฝึกหัดงานโดยตรง (On the job training) จากการวิจัยค้นคว้า การใช้วิธี Vestibule Training นี้ จะเป็นวิธีที่ให้ผลสำเร็จสูง แต่ก็เสียค่าใช่จ่ายสูงด้วย

5.  การจัดแผนการศึกษา (Program Instruction) นับตั้งแต่ปี ค.ค.1950 เป็นต้นมา การอบรมได้มีการนำเอาวิธี Program Instruction มาใช้ในโครงการอบรมและพัฒนานักบริหารต่าง ๆ วิธีการจัด Program Instruction นี้ อาจจะทำโดยมีการจัดเตรียมเอกสารในรูปแบบของหนังสือ

หรือคู่มือ ซึ่งเป็นเครื่องช่วยสอนที่จะช่วยให้เรียนรู้ได้สะดวกขึ้น เรื่องราวต่าง ๆ ที่จัดขึ้นเป็นแผนการศึกษานี้ วิธีการจัดทำมักจะพยายามที่จะแตกเรื่องให้แยกย่อยเป็นหัวข้อต่าง ๆ โดยมีการแยกแยะและจัดเป็นระเบียบตามหลักตรรกวิทยาของเหตุผล ซึ่งเป็นเครื่องช่วยให้ผู้รับการฝึกอบรมมีการติดตาม และแยกแยะเรื่องราวได้ตามลำดับขั้นตอนอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ของเนื้อหานั้นมักจะมีการสรุปเรื่องราวไว้สั้น ๆ เป็นระยะ ๆ เป็นลำดับเรื่องแล้วให้ทำการฝึกอบรมโดยให้ทดลองตอบปัญหาโดย วิธีเขียนคำตอบในช่องว่าง หรือโดยวิธีให้ทดลองกดปุ่มเครื่องจักร เป็นต้น ดังเช่นการทดลองให้รู้จักใช้เครื่อง Computer ถ้าหากการปฏิบัติทำได้ถูกต้องแล้ว ภายหลังจากการปฏิบัติสิ้นสุดลงขั้นหนึ่ง ๆ ผู้เข้ารับการอบรมก็จะได้รับคำบอกเล่าเกี่ยวกับคำตอบและชี้ถึงลำดับขั้นตอนต่อไปของเนื้อหา แต่ถ้าหากว่าการปฏิบัติไม่ตรงตามที่ต้องการก็จะมีการอธิบายส่วนนั้น หรือขั้นนั้นจนกว่าจะเข้าใจ และจะให้ทดลองทำจนถูกต้อง แล้วจึงขึ้นเรื่องอื่นต่อไป

ข้อดีของวิธีนี้คือ ช่วยให้มีการเข้าใจโดยละเอียดในข้อแตกต่างของแต่ละคนที่มีความสามารกไม่เหมือนกัน และเรียนรู้ได้แตกต่างกัน ส่วนข้อเสียนั้นก็คือ ต้นทุนในการจัดเตรียม Program นับว่า ค่อนข้างแพง ดังนั้นถ้าหากจำนวนพนักงานที่จะเข้าอบรมตามวิธีนี้มีมากพอแล้ว วิธีนี้ก็จะประหยัดได้ และเหมาะที่จะนำมาใช้ได้ผลคุ้ม