ประโยชน์ของการประเมินผลการปฏิบัติงาน

วิธีการประเมินผลการปฏิบัติงาน  นับว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบริหารงานบุคคล  เพราะเหตุว่าการประเมินผลการปฏิบัติงานตามวิธีการสมัยใหม่  ช่วยให้การเลือกสรรบุคคล  และการวินิจฉัยเกี่ยวกับนโยบายบุคคล  ดำเนินไปด้วยความมีเหตุผลและเชื่อถือได้  ประโยชน์ที่สำคัญของวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงาน ได้แก่ 1.  เพื่อให้การปูนบำเหน็จแก่ผู้ปฏิบัติงานได้ดำเนินไปด้วยความยุติธรรม  มีเหตุมีผล  มีระบบเป็นระเบียบแบบแผน  ซึ่งใช้ต่อบุคคลในองค์การเดียวกันโดยเสมอและทั่วถ้วน  เป็นการป้องกันการเล่นพรรคเล่นพวก 2.  เพื่อให้การเลื่อนชั้น  เลื่อนตำแหน่งเป็นไปโดยยุติธรรม มีข้อเปรียบเทียบ เป็นหลักฐานในการพิจารณา  ป้องกันการกินแหนงแคลงใจแก่ผู้ที่มิได้รับการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง  ให้ได้ทราบข้อบกพร่องด้วยความยุติธรรม 3.  เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพิจารณาว่า  บุคคลใดมีสมรรถภาพในการปฏิบัติงาน หรือผู้ใดหย่อนสมรรถภาพ ไม่สมควรจะให้ปฏิบัติงานในองค์การต่อไป  ซึ่งเท่ากับเป็นการลดค่าใช้จ่ายอันไม่จำเป็นขององค์การออกไป  ทั้งก่อให้เกิดความเป็นธรรมในระหว่างผู้ปฏิบัติงานด้วยกัน 4.  เพื่อประโยชน์ในการกำหนดวิธีการฝึกอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องตามความจำเป็น และความต้องการในการฝึกอบรมของเจ้าหน้าที่แต่ละประเภท  แต่ละหน้าที่  และแต่ละสาขาวิชาชีพที่ปฏิบัติงานอยู่ในองค์การ 5. เพื่อประโยชน์ในการสับเปลี่ยนโยกย้ายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติงหน้าที่ให้เหมาะสมกับความรู้ ความสามารถของตน   เพื่อเกิดประสิทธิผลแก่งาน 6.  เพื่อประกอบการพิจารณาปรับปรุงวิธีการสรรหาบุคคล  ที่องค์การใช้เลือกสรรบุคคลเข้ามาปฏิบัติในองค์การให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  กล่าวคือ  จะได้ทราบว่าวิธีการทดสอบที่ใช้อยู่  สามารถวัดและเลือกสรรบุคคลได้ต้องตามความประสงค์ขององค์การหรือไม่  หากมีข้อบกพร่องจะได้ปรับปรุงแก้ไขได้ทันท่วงที 7.  เพื่อเป็นเครื่องจูงใจให้พนักงานเจ้าหน้าที่ในองค์การ  ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเต็มใจ  เต็มกำลังความรู้ความสามารถ  ไม่ต้องคอยกังวลที่จะประจบผู้บังคับบัญชาด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง  แต่จะประจบผู้บังคับบัญชาด้วยการปฏิบัติงานโดยปราศจากความกังวลใจ