การจัดการตามแนวมนุษยสัมพันธ์

2.  การจัดการตามแนวมนุษยสัมพันธ์ (Human Relations Approach)  การจัดการตามแนวมนุษยสัมพันธ์นี้ ได้รับความสนใจมากในตอนปลายศตวรรษที่ 19  ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ  บรรดานักจิตวิทยา  สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา  ได้ให้ความสนใจศึกษาเกี่ยวกับสภาพการทำงานของคนงานในแง่ต่าง ๆ  โดยเฉพาะหลังจากที่ได้มีการตื่นตัวในเรื่องการจัดการแบบวิทยาศาสตร์  ซึ่งเป็นวิธีการจัดการ ที่มุ่งพิจารณาในเรื่องเหตุและผลของการทำงานเป็นสำคัญ  ส่วนองค์ประกอบในด้านบุคคล  ซึ่งแท้จริงแล้วมีความสัมพันธ์อย่างยิ่ง ต่อการผลิตกลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร  แม้จะมีการศึกษาค้นคว้าบ้าง  แต่ก็เป็นเพียงเฉพาะในส่วนของปัจเจกชน (Individual) เท่านั้น  มิได้กระทำในรูปของกลุ่มสังคม (Social group) ระยะหลังนี้ ได้มีกลุ่มนักวิชาการ ได้ให้ความสนใจศึกษาเกี่ยวกับองค์ประกอบในด้านบุคคลในการผลิตมากขึ้น  กลุ่มนี้ได้ศึกษาการจัดการตามแนวความคิดใหม่ที่เรียกว่า Human Relations Approach การจัดการตามแนวมนุษยสัมพันธ์นี้  ได้มุ่งพิจารณาในเรื่องความสำคัญของบุคคล  ในฐานะเป็นองค์ประกอบของการจัดการ ยิ่งกว่าการศึกษาในเรื่องวิธีการจัดการตามแบบวิทยาศาสตร์  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ  พิจารณาบุคคลในลักษณะที่เป็นพลวัต (Dynamic) แทนที่จะพิจารณาในลักษณะเป็นเพียงองค์ประกอบทางกายภาพ (Physical)  ขององค์การ  ทั้งยังได้ย้ำในเรื่องความสำคัญของบุคคลเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านการบริหารงานบุคคลและการบำรุงรักษาทรัพยากรบุคคล  ผลของการศึกษาค้นคว้า ด้านการจัดการตามแนวมนุษยสัมพันธ์ที่ได้รับการยกย่องมาก คือ การศึกษาทดลองที่เรียกว่า “Hawthorne Experiment”  โดยมีศาสตราจารย์ George Elton Mayo […]