การบริหารงานบุคคลที่มุ่งในลักษณะวิชาชีพของการบริหารงาน

4.  มุ่งในลักษณะวิชาชีพของการบริหารงานบุคคล การบริหารงานบุคคล  ซึ่งแต่เดิมปะปนอยู่กับการบริหารราชการทั่ว ๆ ไปนั้น  เริ่มได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารที่มีความสำคัญ  และสมควรจะต้องปฏิบัติให้ดีเป็นพิเศษ  โดยอาศัยนักบริหารงานบุคคลที่มีความชำนาญในเรื่องงานบุคคลเป็นผู้คอยช่วยเหลือแนะนำวิธีการปฏิบัติและกลวิธีต่าง ๆ เพื่อให้การบริหารงานบุคคลได้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพเป็นประโยชน์อนุกูลเกื้อต่อการบริหารงานส่วนรวม  ทั้งนี้  เป็นที่ยอมรับกันว่าการบริหารงานบุคคลเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะแยกออกจากงานประจำทั่วไปได้  ผู้บังคับบัญชาตามสายงานจะต้องพัวพันกับงานบุคคลอยู่เสมอ  ทั้งจะต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้เท่า ๆ กับงานประจำของตนก็ตาม  ผู้บังคับบัญชาเหล่านี้ก็มิได้เป็นนักบริหารงานบุคคลโดยเฉพาะ  เพราะต้องแบกภาระหน้าที่ในการงานประจำอยู่แล้ว  ไม่สามารถจะทุ่มเทเวลาให้แก่งานบุคคลเป็นพิเศษได้  จึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีหน่วยงานพิเศษทำหน้าที่เกี่ยวกับงานบุคคลโดยเฉพาะ  เพื่อคอยช่วยเหลือผู้บังคับบัญชาในเรื่องนี้  หน่วยงานดังกล่าว  ควรจะบรรจุนักบริหารงานบุคคลอาชีพไว้ให้ทำหน้าที่ในด้านนี้โดยเฉพาะอย่างเต็มที่ ในปี พ.ศ. 2500  ได้มีการจัดตั้งหน่วยราชการที่จะปฏิบัติงานบุคคโดยเฉพาะขึ้นเป็นหน่วยแรก  ได้แก่กองการเจ้าหน้าที่  สังกัดกรมมหาดไทย (กรมการปกครองในปัจจุบัน)  กระทรวงมหาดไทย  ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นกองอัตรากำลังและส่งเสริมสมรรถภาพ  ต่อมาในปี พ.ศ. 2504  ในที่ประชุมสัมมนาการบริหารงานบุคคล  ซึ่งสำนักงาน ก.พ.  และคณะรัฐประศาสนศาสตร์  ได้ร่วมกันจัดให้มีขึ้นระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึง เดือนสิงหาคม 2504  ณ  ห้องประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ที่ประชุมได้เน้นถึงความสำคัญในเรื่องนี้  และได้ตกลงที่จะจัดให้มีหน่วยปฏิบัติงานบุคคลโดยเฉพาะขึ้นในกรมต่าง ๆ  หลังจากนั้นเป็นต้นมา  ก็ได้มีการจัดตั้งแผนกการเจ้าหน้าที่ขึ้นในกรมต่าง ๆ ในวงราชการพลเรือน ทุกครั้งที่มีการจัดแบ่งส่วนราชการใหม่  โดยจัดแยกขึ้นเป็นแผนกต่างหาก  […]