การเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งการปฏิบัติงาน

ระบบการเลื่อนชั้นตำแหน่ง (Promotion Systems)

ความหมายการเลื่อนชั้นตำแหน่งงาน หมายถึง การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งในทางสูงขึ้น ซึ่งโดยปกติมักจะมีความรับผิดชอบมากขึ้น และมีหน้าที่งานที่แตกต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะแตกต่างไปจากตำแหน่งงานในปัจจุบัน

ในเรื่องของการเลื่อนชั้นตำแหน่งนั้นหลาย ๆ แห่งอาจจะกล่าวได้ว่าแทบจะมิได้มีการกระทำอย่างจริงจังและถูกต้อง ซึ่งเท่ากับชี้ให้เห็นถึงจุดเน้นที่ผิดบกพร่องขององค์การ นั่นคือเท่ากับองค์การได้มุ่งเน้นแต่เพียงการออกแบบระบบของการให้รางวัลตอบแทนมากกว่าการให้ความสำคัญต่อการเลื่อนชั้นตำแหน่ง นอกจากนี้ในหลาย ๆ แห่งที่มีการเลื่อนชั้นตำแหน่งนั้น ก็อาจจะมีการกระทำอย่างไม่ถูกต้อง โดยที่เรียกว่า“การเลื่อนชั้นตำแหน่งเทียม” (Quasipromotions) ซึ่งหมายถึงการมีระบบ การเลื่อนชั้นตำแหน่งที่สักแต่ว่าจัดทำขึ้นเพื่อที่จะใช้ในความหมายของการให้เป็นรางวัลตอบแทนในเรื่อง “ยศชั้น” มากกว่า นั่นคือได้มีการเปลี่ยนชื่อตำแหน่งของบุคคลเท่านั้น แต่ว่างานที่มอบหมายให้ก็ยังคงเหมือนเดิมทุกประการ เช่น พนักงานบัญชีธรรมดาอาจจะเลื่อนชั้นเป็นพนักงานบัญชีอาวุโส เป็นต้น ซึ่งในกรณีเช่นนี้ถึงจะได้มีการกระทำก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงอาจจะกล่าวได้ว่ามิได้มีการเลื่อนชั้นแต่อย่างใดเลย ในหนทางที่ถูกต้องนั้น การเลื่อนชั้นที่เพิ่มเติมและจะต้องมีฐานะความสำคัญมากกว่าเดิมด้วย ซึ่งอาจแสดงออกในทางต่าง ๆ เช่น การให้ผลประโยชน์ให้เพิ่มขั้นเหมาะสมกับภาระงานที่มากขั้น และจุดสำคัญก็คือภาระงานจะต้องปรากฏมากขึ้นอย่างชัดแจ้งจึงจะเป็นการถูกต้อง

ในเรื่องของการตัดสินใจเกี่ยวกับการเลื่อนชั้นตำแหน่งนี้นั้น วิธีการและหลักการคงเป็นเช่นเดียวกันกับการตัดสินใจเกี่ยวกับการคัดเลือก นั่นคือเป็นความพยายามของผู้บริหารที่มุ่งจะให้ได้คนที่เหมาะสม ที่สุดและคู่ควรกับตำแหน่ง แต่ก็มีข้อแตกต่างจากเรื่องของการคัดเลือกอยู่ประการหนึ่งก็คือ ในการ ตัดสินใจเลื่อนชั้นตำแหน่งนั้นองค์การจะมีโอกาสมากกว่าที่จะสามารถตรวจสอบผลได้อย่างชัดแจ้ง จากผลการปฏิบัติงานต่าง ๆ ที่บุคคลผู้นั้นได้กระทำมาก่อน ซึ่งนายจ้างหรือบริษัทจะสามารถตรวจผลที่ได้ทำมาแล้ว มากกว่าที่จะทำโดยการคาดหมายหรือเดาเอาว่าเขาจะมีโอกาสทำงานได้สำเร็จผลเพียงใด โดยการยึดถือแต่เพียงจากคะแนนทดสอบเท่านั้น เช่นในกรณีของการทดสอบ การสัมภาษณ์ หรือการดูจากคำรับรองดังเช่นในกรณีของการคัดเลือกคนใหม่ นอกจากนี้การเลื่อนชั้นตำแหน่งยังมีข้อแตกต่างในทางที่เป็นปัญหาที่ยากอยู่เหมือนกัน นั่นคือมักจะต้องเผชิญกับบรรยากาศความกดดัน ในเรื่องของการชิงดีชิงเด่นในทางการเมืองระหว่างบุคคลที่มีข่าวว่า จะได้รับการเลื่อนชั้น และหลาย ๆ กรณีก็มักจะต้องพบกับปัญหาของการวิ่งเต้น หรือการใช้อิทธิพลความสนิทสนมที่มีเป็นพิเศษหรือการแสร้งทำคุณประโยชน์เพื่อให้เกิดความกระอักกระอ่วนต่อผู้บริหาร ซึ่งมักจะทำให้เกิดผลได้ไม่ยาก โดยเฉพาะกับผู้บริหารที่มิได้มีประสพการณ์หรือความเข้าใจในความสำคัญของการเลื่อนชั้นนี้

ถ้าหากจะพูดถึงเกณฑ์พิจารณาที่ใช้ประกอบในการเลื่อนชั้นก็อาจจะมีแตกต่างกันไป และส่วนมากก็มักมีเกณฑ์ที่สำคัญ 2 ประการ คือ การเลื่อนชั้นโดยยึดถือตามหลักความสามารถหรือผลงาน (merit) และการเลื่อนชั้นโดยการยึดถือหลักอาวุโส (seniority) ระบบดังกล่าวถือว่าเป็นระบบทางการ

ส่วนระบบที่ถือว่าไม่เป็นทางการนั้นก็มักจะเป็นไปใน 2 ทาง คือ การยึดถือดูเอาจาก “บุคลิกภาพ” ของคนที่ควรจะเลื่อนและการคล้อยตามอิทธิพลความสนิทสนมส่วนตัว

วิธีต่าง ๆ ดังกล่าวนั้นอาจจะกล่าวได้ว่า ะบบหนึ่งที่ยังคงมีความคงทนถาวรจนถึงปัจจุบันก็คือ ระบบการเลื่อนชั้นตำแหน่งตามอาวุโส นั่นคือยึดถือตามจำนวนปีที่ผู้นั้นได้เคยทำงานมาในองค์การ วิธีการเลื่อนตำแหน่งตามอาวุโสนี้ โดยมากมักเป็นที่นิยมของพนักงานเก่าที่อยู่มาก่อน ทั้งนี้เพราะเหตุ ผลของพนักงานมักจะอ้างว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่เป็นกลางไม่เข้าข้างใคร และเป็นเรื่องซึ่งลดข้อโต้แย้งได้ ตลอดจนการช่วยให้มีการหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องความมีอคติ และการมีข้อนิยมชมชอบพิเศษของผู้ประเมินได้ด้วย แต่ในทัศนะของฝ่ายจัดการแล้ว ส่วนมากมักจะนิยมวิธีการพิจารณาจากผลงานและความสามารถ ซึ่งมีเหตุผลที่ดีกว่าที่สามารถวัดผลงานออกมาได้อย่างชัดแจ้ง

สำหรับระบบการเลื่อนชั้นตำแหน่งด้วยวิธีตามอาวุโสนั้น เหตุผลที่น่าจะยอมรับก็คงมีอยู่สอง ประการ คือ ประการแรกก็คือเรื่องของการยึดถือตามประเพณีวัฒนธรรมที่มักจะให้ความสำคัญโดยถือเป็นการให้เป็นรางวัลสำหรับความจงรักภักดีที่ทำงานอยู่กับบริษัทมานาน และเหตุผลทางอ้อมที่พอจะสนับสนุนในเรื่องนี้ก็คือ ในเมื่อพนักงานได้ทำงานมานานมากพอสำหรับระยะเวลาหนึ่งแล้วนั้น ถึงจะอย่างไรก็ตาม ความชำนาญและความเข้าใจงานอาจจะมีขึ้นได้ไม่น้อยทีเดียวภายหลังจากที่ได้มีการทำงานในระยะเวลาที่ยาวนาน แต่อย่างไรก็ตามระบบการเลื่อนชั้นตำแหน่งโดยยึดถือตามอาวุโสนี้ที่อาจจะเป็นปัญหาสำคัญก็คือการที่ทำให้ต้องมีปัญหา ทำให้จำต้องได้เฉพาะบุคคลที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมกับตำแหน่งโดยเฉพาะกับตำแหน่งที่มีความสำคัญ ซึ่งถ้าหากเป็นไปอย่างมาก ในหลาย ๆ จุดในองค์การแล้ว ก็ย่อมเท่ากับเป็นการบั่นทอนประสิทธิภาพขององค์การเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้วิธีตามอาวุโสยังเป็นการทำลายความกระตือรือล้นของผู้ที่มีความสามารถที่จะหมดกำลังใจ ภายในระยะเวลาอันสั้น เพราะจะเห็นได้ชัดว่าการเลื่อนตำแหน่งนั้นหมดหนทางแล้วนอกจากจะต้องทำงานเป็นเวลานานหลาย ๆ ปี ดังนั้นขวัญและกำลังใจมักจะตกตํ่าในตัวบุคคลที่มีความกระตือรือล้น และมีความสามารถดังกล่าว เหตุผลที่โต้แย้งการเลื่อนตามตำแหน่งอาวุโสในอีกด้านหนึ่งก็คือ การที่แต่ละคนทำงานมาโดยใช้เวลาหลาย ๆ ปีนั้น จะมิใช่เป็นเครื่องประกันได้ว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องทำงานดีด้วย กล่าวคือ ถึงแม้จะทำงานมาเป็นเวลานานก็มิได้หมายความว่าผู้นั้นได้มีความชำนาญมากขึ้น ดังนั้นเพื่อความเหมาะสมการพิจารณาเลื่อนชั้นตำแหน่งจึงเป็นเรื่องซึ่งจะต้องพิจารณาประกอบกัน ทั้งสองทางให้สมดุลและดีที่สุด กล่าวคือจะต้องพิจารณาถึงความสามารถหรือผลงานควบคู่กับอายุ งานหรืออาวุโสในการพิจารณาตัดสินเกี่ยวกับการเลื่อนชั้นตำแหน่ง