การบริหารค่าจ้างและเงินเดือน

การบริหารค่าจ้างและเงินเดือน (Wage and Salary Administration)

คำว่าการบริหารค่าจ้างและเงินเดือนนั้น  ได้เป็นที่ยอมรับกันมาช้านานว่าเป็นงานด้านหนึ่งที่มีขอบเขตและเนื้อหาที่ต้องดำเนินการโดยมีการศึกษาและจัดทำให้ถูกต้อง เป็นนโยบายเฉพาะเรื่องและมีวิธีคิดคำนวณที่แน่นอนในการพิจารณาจ่ายตอบแทนแก่คนงาน ซึ่งวิธีต่าง ๆ เหล่านั้นครอบคลุมไปถึงเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง คือ การประเมินค่างาน (Job Dvaluation) ตลอดจนการพัฒนาและการปรับปรุงโครงสร้างของค่าจ้าง รวมถึงการทำการสำรวจค่าจ้าง การจ่ายค่าจ้างแบบจูงใจ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างและการปรับค่าจ้าง รวมทั้งการจ่ายผลประโยชน์เพิ่มเติมอื่น ๆ เช่น โบนัส และการแบ่งกำไร รวมตลอดถึงวิธีการควบคุมต้นทุนการจ่ายตอบแทนและการจ่ายในกรณีอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับความหมายนี้

คำว่า ค่าจ้าง (Wage) เป็นคำที่ใช้โดยทั่วไปสำหรับพนักงาน ซึ่งวิธีการจ่ายสามารถคำนวณได้จากจำนวนชั่วโมงของการทำงาน ดังนั้นค่าจ้างที่จ่ายให้เป็นระยะเวลา เช่น เป็นรายสัปดาห์ จึงมักจะผันแปรไปตามชั่วโมงที่ได้ทำงานจริง ๆ ที่มากน้อยแตกต่างกัน

ส่วนคำว่า เงินเดือน (Salary) นั้น  เป็นวิธีการจ่ายตอบแทนที่มีรูปแบบที่แน่นอน (Uniform) ที่จะเหมือนกันหรือเท่ากันสำหรับช่วงระยะเวลาของการจ่ายต่อครั้ง  และไม่ขึ้นหรือสัมพันธ์โดยตรงกับจำนวนชั่วโมงของการทำงาน  ความหมายของการจ่ายประเภทที่เป็นเงินเดือนนี้  ในตัวของมันมีความหมายที่แตกต่างจากค่าจ้างในแง่ที่ เงินเดือนเป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงฐานะที่ดีกว่า คือเงินเดือนเป็นสิ่งที่จ่ายให้กับพนักงานประจำ โดยเฉพาะพวกเสมียนพนักงาน นักบริหาร หรือกลุ่มงานอาชีพ และหัวหน้าคนงาน  ซึ่งต่างจากคำว่าค่าจ้าง  ซึ่งมีความหมายแต่เพียงการให้เป็นค่าจ้างกับผู้ใช้แรงงานเป็นรายชั่วโมง  หรืองานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานบังคับบัญชา หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ค่าจ้างเป็นงานที่ให้กับผู้ใช้แรงงานเป็นส่วนใหญ่นั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามในทุกวันนี้ความแตกต่างของฐานะของผู้ที่รับรายได้เป็นเงินเดือนและค่าจ้างนั้น  ได้มีน้อยลงเป็นลำดับแล้ว  ทั้งนี้เพราะองค์การส่วนมากได้มีการเปลี่ยนฐานะให้กับผู้ที่รับรายได้เป็นค่าจ้าง  ที่จะมีโอกาสรับค่าจ้างเป็นจำนวนเต็มโดยไม่มีการหัก ในกรณีที่มีการขาดงานเพราะเหตุสืบเนื่องจากการเจ็บป่วย  ทั้งนี้เพื่อให้เป็นเช่นเดียวกันกับเงินเดือนของพนักงานที่มีการจ่าย ณ ระดับต่ำลงไป  และนอกจากนี้ยังมักจะให้สิทธิที่จะได้รับค่าล่วงเวลาสำหรับการทำงานที่เกินกว่าจำนวนชั่วโมงที่ได้กำหนดไว้เป็นมาตฐานในแต่ละสัปดาห์  ในที่นี้คำว่าค่าจ้างและเงินเดือนจึงเป็นเรื่องที่พอจะพูดในความหมายที่ทดแทนกันได้ ยกเว้นเฉพาะบางจุดซึ่งอาจจะใช้แตกต่างกันเพื่อการอธิบายถึงสาระและรายละเอียดที่แตกต่างกันของสองระบบของการจ่ายดังกล่าว