รูปแบบของการเสริมสร้างทัศนคติในทางการบริหาร

รูปแบบของการเสริมสร้างทัศนคติในทางการบริหาร(Behavior Modeling)

ลักษณะวิธีการจัดโครงการเพื่อการพัฒนาเสริมสร้างความสามารถเชิงมนุษยสัมพันธ์และการมีทัศนคติที่ถูกต้องทางการบริหารนั้น  แต่เดิมในวิธีการอบรมแบบเก่า ส่วนใหญ่มักจะดำเนินการด้วยการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฎีก่อน  จากนั้นก็จะมุ่งพยายามอบรมให้มีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและค่านิยมและตามมาด้วยการสังเกตติดตามการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในขณะทำงาน  โดยมีเป้าหมายในขั้นสุดท้ายที่มุ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน วิธีดังกล่าวนับว่าเป็นวิธีการฝึกอบรมและพัฒนาซึ่งได้ใช้มาช้านานแล้ว

แต่ในสมัยปัจจุบันได้มีการคิดค้นคว้าและมีแนวความคิดเกี่ยวกับรูปแบบของการพัฒนาในเรื่องนี้ใหม่ ที่เรียกว่า “The Behavior Modeling-Interaction Management” ซึ่งเป็นวิธีการที่จะพยายามวิจัยปัญหาเกี่ยวกับการทำงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับคน  ที่ผู้บริหารทุกคนต้องเผชิญในรูปแบบต่าง ๆ ครบถ้วน  ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นอยู่เสมอในเรื่องนี้มักจะเกี่ยวข้องกับการที่จะให้ลูกน้องยอมรับในฐานะที่เป็นผู้บริหารใหม่ของเขา การแก้ไขปัญหาในเรื่องเลือกที่รักมักที่ชัง ความไม่มีประสิทธิภาพ หรือการไม่สามารถมอบหมายงานให้ออกไปจากตน  รวมตลอดทั้งการพยายามแก้ไขเรื่องปัญหาการไม่ร่วมมือของลูกน้อง  การเพิ่มประสิทธิภาพภายใน  การใช้วินัยเป็นเครื่องมือ  การเอาชนะการต่อต้าน การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ การกำหนดเป้าหมายผลงานให้เป็นที่ยอมรับ  การกระตุ้นผลผลิตให้อยู่ในระดับถัวเฉลี่ยที่ใช้ได้  การแก้ไขสถานการณ์ของปัญหาที่มีเรื่องอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง  การลดอาการเนือย ๆ และเฉื่อยชา  รวมตลอดถึงการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ ปัญหาทั้ง 19 ประการนี้นั้น  นักวิชาการได้รวบรวมศึกษาและพยายามหาวิธีที่จะให้ได้ผลที่สุดในการพัฒนาความสามารถในเรื่องนี้  ซึ่งรูปแบบของการพัฒนาใหม่นี้แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน คือ

1.  มุ่งที่จะพยายามออกแบบพฤติกรรมที่จะมีประสิทธิภาพที่สุดเป็นเป้าหมาย  ซึ่งส่วนมากมักจะมีการใช้ภาพยนตร์เข้าประกอบ

2.  คือการให้ทดลองแสดงบทบาท (Role Playing)

3.  การใช้กระบวนการทางสังคมเข้าช่วย นั่นคือ ทั้งผู้เข้าอบรมและผู้ทำการอบรมจะร่วมกันพยายามค้นหาบทบาทที่มีประสิทธิภาพให้เป็นที่เข้าใจระหว่างกัน  หลังจากนั้นก็ต่อขั้นถัดไปคือ

4.  การให้นำเอาส่วนที่ได้ฝึกอบรมนั้นไปใช้และช่วยในงานที่ทำอยู่โดยตรง

ทั้ง 4 ขั้นตอนนั้น กระบวนการอบรมหรือพัฒนาจะเริ่มต้นด้วยการเข้าในพฤติกรรมใหม่ ๆ ที่ถูกต้อง หรือให้เรียนรู้จากการแสดงบทบาทและการปฏิบัติ  จากนั้นก็จะมีการติดตามผลความมีประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น  ซึ่งจะได้ผลต่อเนื่องมาถึงการติดตาม การเปลี่ยนแปลงของทัศนคติและค่านิยมที่ได้เปลี่ยนไปแล้ว และในที่สุดเป้าหมายก็คือ  การได้เข้าใจเกี่ยวกับทฤษฏี  และนำมาอธิบายเกี่ยวกับประสิทธิภาพของพฤติกรรมใหม่ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วหรือที่ได้ปรับปรุงแล้ว