บทสรุปวิวัฒนาการของระเบียบข้าราชการพลเรือนไทย

กล่าวโดยสรุป  วิวัฒนาการของระเบียบข้าราชการพลเรือนไทยได้เริ่มมาแต่สมัยกรุงสุโขทัย ซึ่งมีลักษณะการปกครองแบบพ่อปกครองลูก  พระมหากษัตริย์เป็นเสมือนพ่อข้าราชการเป็นเสมือนลูก  หรือคนในครอบครัว  ครั้นต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา  ระเบียบข้าราชการพลเรือนได้มีลักษณะเป็นระบบทหาร  ถือว่าชายฉกรรจ์ทุกคนต้องเป็นทหาร  ไม่มีการแยกทหารกับพลเรือนออกจากกัน  ในยามปกติก็เป็นพลเรือน  เมื่อเกิดศึกสงครามก็เปลี่ยนสภาพเป็นทหาร  ต่อมาได้วิวัฒนาการเป็นระบบอุปถัมภ์  คือใครเป็นข้าราชการก็นำญาติพี่น้องหรือพรรคพวกเข้ารับราชการ  ตลอดจนการเลื่อนขั้นตำแหน่ง  การรับราชการมีลักษณะเป็นอาชีพของชนชั้นสูงหรือผู้ดีมีสกุล  และเกือบเป็นการสืบมรดกตกทองกันไปทีเดียว  ในระยะเวลาดังกล่าวนี้  ข้าราชการมีลักษณะเป็นข้าราชบริพารมากกว่าที่จะเป็นพนักงานของรัฐ  และระเบียบราชการพลเรือนก็ยังไม่ค่อยมีระเบียบกฎเกณฑ์อะไรมากนัก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ารับราชการยังไม่มีการสอบคัดเลือกเอาผู้ที่มีความสามารถแต่อย่างใด  คงใช้วิธีนำญาติพี่น้องพรรคพวกเพื่อนฝูงเข้ารับราชการกันอยู่  ทั้งนี้  อาจเป็นเพราะหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐที่มีต่อประชาชน  ไม่มีขอบเขตกว้างขวางมากนัก ราชการก็ยังไม่ยุ่งยากซับซ้อน ข้าราชการก็มีจำนวนไม่มากนัก  การรับคนเข้ารับราชการ  การปูนบำเหน็จความดีความชอบ การแต่งตั้งถอดถอน จึงเป็นอำนาจสิทธิ์ขาดของพระมหากษัตริย์หรือผู้มีอำนาจ  โดยยึดหลักธรรมหรือจารีตประเพณีเป็นหลักเท่านั้น  มาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ระเบียบข้าราชการพลเรือนได้เริ่มวิวัฒนาการเข้าระบบใหม่หลายประการ  แต่ก็ยังคงเป็นไปในรูประบบอุปถัมภ์อยู่  จนกระทั่งปี พ.ศ. 2471  เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตราพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนขึ้น  ระเบียบข้าราชการพลเรือนไทยจึงได้ยึดถือหลักการของระบบคุณธรรมมาจนกระทั่งปัจจุบันและได้พัฒนาไปในทางเสริมสร้างที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน  โดยการปรับปรุงและได้นำวิธีการบริหารงานบุคคลแผนใหม่มาใช้ปฏิบัติเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่การปฏิบัติงานขององค์การมากขึ้น