องค์ประกอบแห่งความสามารถของบุคคลในการปฏิบัติงาน

องค์ประกอบแห่งความสามารถของบุคคล

แม้จะเป็นที่ยอมรับกันว่าบุคคลนั้นมีความต้องการด้านร่างกาย (Physiological needs)  และความต้องการด้านจิตใจ (Psychological needs) ในระดับพื้นฐานไม่แตกต่างกันมากนัก  แต่บุคคลก็ยังมีความแตกต่างกันบางประการในด้านต่าง ๆ อยู่ไม่น้อย  โดยเฉพาะด้านความสามารถในการปฏิบัติงาน  ซึ่งอาจจำแนกออกได้เป็น 5 ประการ คือ

1.  ความสามารถทางร่างกาย (Physical capacity)  ความสามารถทางร่างกายนี้ แม้จะไม่มีมาตรฐานกำหนดไว้ว่า บุคคลจะต้องมีความสามารถและแข็งแรงทางร่างกายขนาดไหน เพียงใด จึงจะปฏิบัติงานได้  แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า  งานแต่ละประเภทต้องการความสามารถทางร่างกายแตกต่างกันไป  เพื่อให้พอเพียงที่จะปฏิบัติงานประเภทนั้น ๆ ได้ หรืองานบางอย่างมักมีมาตรฐานแห่งความสามารถทางร่างกายไว้ด้วย เช่น  คนที่จะเป็นทหารได้ต้องมีรอบอก 80 เซนติเมตรขึ้นไป และไม่มีโรคต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้

สำหรับอาชีพอื่นก็เห็นได้ง่าย เช่น  คนจะเป็นกรรมกรแบกหามได้ต้องสามารถยกของหนัก ๆ ได้  คนที่เป็นช่างทาสีต้องแขนไม่พิการทั้งสองข้างดังนี้ เป็นต้น จึงสรุปได้ว่า  ความสามารถในทางร่างกายสำหรับการปฏิบัติงานนั้น บางหน่วยได้วางระเบียบกฎเกณฑ์ไว้  บางหน่วยงานก็มิได้วางไว้แต่ก็เป็นที่ทราบกันทั่วไป  อย่างไรก็ดีความสามารถทางร่างกายนี้ไม่รวมถึงคนพิการที่สามารถปฏิบัติงานบางอย่างได้ เช่น คนตาบอด แต่มีความสามารถทางร่างกายในการทำงานต่อโทรศัพท์ หรือเล่นดนตรีได้ เป็นต้น

2.  ความสามารถทางการศึกษาและระดับสติปัญญา (Education and intelligence level)  ความสามารถในการศึกษานับว่ามีความสำคัญมาก  ทั้งนี้เพราะว่าคนที่จะปฏิบัติงานได้ดีต้องมีระดับสติปัญญาและการศึกษาเหมาะสมกับตำแหน่งนั้น ๆ  เช่น การรับราชการในตำแหน่งเสมียนพนักงาน  ผู้ที่จะเข้าปฏิบัติงานได้ต้องมีการศึกษาไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมปีที่ 6 หรือระดับสติปัญญา I.Q. ไม่ต่ำจนเกินไป เป็นต้น  งานแต่ละประเภทความต้องการระดับการศึกษาไม่เหมือนกัน  งานบางอย่างไม่ต้องการความรู้ชั้นไหนเลยก็ได้ เช่น งานกรรมกรและงานซักรีดเสื้อผ้า ฯลฯ แต่งานบางประเภท เช่น นักวิชาการหรืองานที่มีความรับผิดชอบอย่างสูง  ย่อมต้องการระดับสติปัญญาและการศึกษาสูง เช่น ปลัดกระทรวง อธิบดีกรมต่าง ๆ หรือวิศวกรและนายแพทย์ ฯลฯ เป็นต้น

3.  ความสามารถทางจิตใจ (Psychological factors)  ความสามารถทางจิตใจของบุคคลเป็นองค์ประกอบสำคัญในการปฏิบัติงาน  ทั้งนี้เพราะว่าคนที่จะปฏิบัติงานได้ดีนั้นต้องมีจิตใจสมบูรณ์  ไม่เป็นคนขี้โมโหฉุนเฉียว หรือมีลักษณะเป็นคนก้าวร้าวระรานผู้อื่น  นอกจากนี้องค์ประกอบในแง่จิตใจยังหมายความถึงความสมบูรณ์หรือความปกติของจิตใจ  ซึ่งต้องไม่เป็นคนมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบด้วย  ตามที่บัญญัติไว้ในคุณสมบัติของผู้เข้าปฏิบัติงานด้วย

4.  ความสามารถในทางฝีมือและความสนใจในงาน (Aptitudes interest and skills)  ความสามารถทางด้านนี้นับว่ามีความสำคัญมาก  เพราะเป็นที่พึงประสงค์ของทุกองค์การ  ทั้งนี้เพราะว่า คนที่จะปฏิบัติงานใดงานหนึ่งได้ดีจะต้องมีความถนัดหรือมีความสนใจในงานนั้น ๆ หรือคนที่ปฏิบัติงานหนึ่งงานใดได้ดีจะต้องมีความสนใจหรือมีความพึงพอใจในงานนั้น  และคนที่จะปฏิบัติงานหนึ่งงานใดได้ดีและถูกรับไว้พิจารณาในอันดับแรกก็คือผู้มีความชำนาญหรือมีฝีมือในงานนั้นมาก่อน  คุณสมบัติหรือความสามารถที่กล่าวนี้ในทางธุรกิจถือว่าสำคัญมาก  ดังที่ปรากฎในการรับสมัครงานมักจะระบุความประสงค์ของหน่วยงานไว้ว่า  ประสงค์จะจ้างผู้ที่มีความชำนาญงานมาแล้วเท่านั้นเท่านี้ปีด้วยเสมอ

5.  ความสามารถในการยอมรับของสังคม (Social acceptability)  บุคคลที่สังคมไม่ยอมรับนับถือ  ย่อมขาดความสามารถในการทำงานซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อยที่มีองค์ประกอบต่าง ๆครบครัน เช่น มีร่างกาย การศึกษา และความชำนาญงานดีแต่ก็ไม่สามารถประกอบอาชีพได้  เพราะเป็นคนที่สังคมไม่ยอมรับ ขาดคุณสมบัติทางสังคมความสำคัญของคุณสมบัติในข้อนี้จะเห็นได้เด่นชัด  หากพิจารณาจากคุณสมบัติของผู้สมัครเข้าเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ผู้สอบแข่งขัน สอบคัดเลือก หรือคัดเลือก ต้องมีคุณสมบัติทางสังคมที่สำคัญได้แก่

1.  ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี

2.  ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

3.  ไม่เคยเป็นผู้เคยต้องโทษโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดที่เป็นลหุโทษ หรือความผิดที่มีโทษขั้นลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยปรามาท

4.  ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษ เพราะประพฤติชั่วถึงต้องออกจากองค์การรัฐบาล องค์การสาธารณะ เทศบาลหรือสุขาภิบาล

5.  ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออกจากราชการเพราะการกระทำผิดวินัย

6.  ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษปลดออกจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน  หรือตามกฎหมายอื่น

7.  ไม่เคยเป็นผู้เคยถูกลงโทษไล่ออกจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนหรือตามกฎหมายอื่น

คุณสมบัติทางสังคมเช่นนี้เป็นเรื่องของแต่ละสังคม  ซึ่งไม่เหมือนกัน บางกรณีสังคมหนึ่งยอมรับ  แต่อีกสังคมหนึ่งอาจรังเกียจก็ได้ นอกจากนี้อาจมีอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนขาดความสามารถในการทำงาน คือ งานบางอย่างสังคมมีคติว่าคนชราทำไม่ได้หรืองานบางอย่างสตรีทำไม่ได้ เป็นต้น