การพิจารณาบุคคลในลักษณะที่เสริมสร้าง เพื่อให้ปฏิบัติงานเป็นประโยชน์แก่องค์การมากที่สุด

การพิจารณาบุคคลในลักษณะที่เสริมสร้าง ศาสตราจารย์ Joseph  B. Kingsbury  ได้ให้คำจำกัดความของการบริหารงานบุคคลแผนใหม่ว่า  คือ “การแสวงหาการพัฒนา  และการใช้คนให้เกิดประโยชน์มากที่สุดแก่องค์การ”  แนวทัศนที่มองการบริหารงานบุคคลในแง่ที่เป็นคุณ (Positive  approach) เช่นนี้สืบเนื่องมาจากการพิจารณาบุคคลในแง่ที่ดี  ว่าคนทุกคนมีโอกาสที่จะแก้ไขตนเองให้ดีขึ้นอยู่เสมอ  ถ้าอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนส่งเสริมกำลังใจหรือขวัญในการทำงานโดยเท่าเทียมกัน  แนวนิยมตามหลักการบริหารงานบุคคลแผนใหม่ จึงเป็นไปในทางที่จะสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมดังกล่าว  เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานได้ปฏิบัติงานเป็นประโยชน์แก่องค์การมากที่สุด  แทนการก่อให้เกิดความเกรงกลัวหรือการลงโทษ  วิธีปฏิบัติตามหลักการบริหารงานบุคคลแผนใหม่ได้เน้นในเรื่องการพัฒนาบุคคล  การเสริมสร้างมนุษยสัมพันธ์  ทำให้เกิดความอุ่นใจ ความรู้สึกมั่นคงรวมทั้งการปฏิบัติต่อผู้ปฏิบัติงานโดยยุติธรรมทัดเทียมกัน  และการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องบุคคลเพื่อหาทางแก้ไขปรับปรุงให้คนปฏิบัติงานได้ดีขึ้น  เหล่านี้ถือว่าเป็นหน้าที่สำคัญ ซึ่งหน่วยงานบุคคลจะพึงยึดถือเป็นหลักในการปฏิบัติงาน

แนวทัศนะดังกล่าวนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า  องค์การบริหารงานบุคคลในวงราชการพลเรือนของไทยยังขาดการปฏิบัติในเรื่องนี้อยู่มาก  อย่างไรก็ตาม  ในปี พ.ศ. 2498 ได้มีการจัดตั้งหน่วยราชการทำหน้าที่เกี่ยวกับการอบรมข้าราชการ  คือฝ่ายการฝึกอบรมข้าราชการในคณะรัฐประศาสนศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำหน้าที่อบรมข้าราชการต่าง ๆ  รวมทั้งการบริหารงานบุคคลในวงราชการด้วย  แม้ว่าหน่วยงานดังกล่าวทั้งสองนี้  จะมิได้อยู่ในโครงร่างองค์การบริหารงานบุคคลของราชการพลเรือนโดยตรง  แต่อย่างน้อยก็เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงแนวทัศนะที่มองเห็นการบริหารงานบุคคล  ในลักษณะที่เป็นคุณที่มีอยู่ในราชการพลเรือนของไทยอยู่บ้าง