ข้อพิจารณาเกี่ยวกับการจัดระบบการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนที่ดี

การที่องค์การธุรกิจจะต้องเผชิญกับปัญหาที่จะต้องจัดระบบการให้ประโยชน์ตอบแทน หรือให้บริการแก่พนักงานในรูปใดรูปหนึ่งนั้น ฝ่ายจัดการควรมีการชั่งนํ้าหนักในปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้เป็นข้อพิจารณาประกอบอยู่ด้วยเสมอ คือ

1.  ต้นทุนและความสามารถในการจ่าย กล่าวคือ ผลประโยชน์ตอบแทนและบริการที่ให้กับพนักงานจะต้องมีความสมดุล และสอดคล้องกับกำลังการจ่ายของรายการต่าง ๆ ซึ่งจะต้องพิจารณาทั้งในแง่ของระยะสั้นและระยะยาวด้วย

 

2.  การคำนึงถึงความต้องการของฝ่ายแรงงาน นั่นคือการจะต้องพิจารณาให้ทราบถึงความต้องการที่แท้จริงของคนส่วนใหญ่ของฝ่ายแรงงาน ทั้งนี้เพราะถ้าหากเข้าใจผิด โดยตรวจสอบความต้องการได้ไม่ถูกต้องและจับผิดวัตถุประสงค์ไปแล้วโครงการต่าง ๆ ก็ย่อมไม่เป็นผล

3.  การพิจารณาถึงความต้องการ นั่นคือการต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์และผลประโยชน์ที่เกี่ยวกับข้อดีที่อาจจะได้รับจากการจัดผลประโยชน์ให้ และการจัดขึ้นโดยเฉพาะในแง่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสรรหาพนักงานที่ดีเข้ามาในบริษัทด้วย

4.  การพิจารณาข้อได้เปรียบเสียเปรียบทางภาษีอากร ทั้งนี้เพราะการจัดผลประโยชน์ตอบแทนบางประเภท อาจได้รับการยกเว้นให้หักภาษีได้ และถือเป็นค่าใช้จ่ายที่จ่ายได้ เช่น ในรูปของการประกันชีวิตที่หักภาษีได้ หรือการพิจารณาในแง่ที่ ถ้าเป็นการซื้อประกันชีวิตโดยหน่วยงานหรือทำเป็นกลุ่มจะได้ราคาถูกกว่า เป็นต้น

5.  ข้อพิจารณาเกี่ยวกับปัญหาทางด้านการบริหารงานด้านการจัดโครงการผลประโยชน์ตอบแทน นั่นคือจะต้องพิจารณาดูด้วยว่า แผนงานที่จัดขึ้นนั้นจะสะดวกในการดำเนินการหรือไม่เพียงใด และจะประสานเข้ากันได้กับนโยบายทางด้านการบริหารอย่างไร

ในการที่จะจัดระบบผลประโยชน์ตอบแทนให้กับพนักงานเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดนั้น การวิเคราะห์และการพัฒนาจัดย่อมจะต้องกระทำด้วยความรอบคอบระมัดระวัง บ่อยครั้งที่การจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน มักจะจัดขึ้นตามความคิดหรือความชอบจากทัศนะของฝ่ายจัดการหรือนายจ้างเท่านั้น หรือไม่ก็อาจจะเกิดขึ้นจากแรงผลักดันของตัวแทนแรงงาน ซึ่งอาจจะไม่ใช่เป็นความต้องการที่แท้จริงของคนงาน หรืออาจจะต้องการในสิ่งที่ผิด ๆ ไม่เป็นผลประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ก็ได้ การที่ระบบการจ่ายตอบแทนพนักงานได้เป็นประโยชน์ต่อแผนงานด้านการบริหารบุคคลอย่างไร ได้มากน้อยเพียงใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับความสนใจที่เกี่ยวกับหลักการสำคัญต่าง ๆ ดังนี้คือ

1.  การพัฒนาเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการผลประโยชน์ตอบแทน

ทำนองเดียวกันกับหน้าที่หรือแผนงานการบริหารบุคคลประการอื่น โครงการจัดผลประโยชน์ตอบแทนแก่พนักงานนั้น ควรจะมีรากฐานมาจากการกำหนดวัตถุประสงค์ที่สำคัญที่ชัดแจ้งเอาไว้ เพื่อที่จะให้เป็นแนวทางสำหรับการจัดสร้างโครงการจัดผลประโยชน์ต่าง ๆ วัตถุประสงค์และเป้าหมายที่พึงจะต้องกำหนดนั้น ควรจะอยู่ในกรอบของการมุ่งที่จะสร้างความพึงพอใจให้กับพนักงานให้มากที่สุด และตอบสนองสิ่งที่พนักงานพึงประสงค์ รวมทั้งการสามารถสนองความต้องการของฝ่ายนายจ้างด้วยวัตถุประสงค์ที่พึงกำหนดขึ้นในแต่ละองค์การย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการทั้งในแง่ของ ขนาด ที่ตั้ง ตลอดจนอิทธิพลของการรวมตัวของแรงงาน อัตราการสามารถทำกำไรได้ รวมทั้งรูปแบบของอุตสาหกรรม และความเข้าใจของฝ่ายจัดการ ที่นึกคิดเกี่ยวกับความต้องการของพนักงานนั้น ๆ ซึ่งจะเป็นอย่างไรก็ตาม จุดกำหนดที่สำคัญที่สุดสำหรับการกำหนดโครงการจัดผลประโยชน์และบริการนั้น คือจะต้องกำหนดให้เข้ากันได้กับปรัชญา และนโยบายขององค์การเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ ข้อพิจารณาอีกประการหนึ่งก็คือ รูปแบบของการให้ประโยชน์นั้นควรจะต้องมีการพิจารณาถึงแบบต่าง ๆ ของการจัดประโยชน์ตอบแทนให้มีความสมดุล และเหมาะสมประกอบกันอยู่ ซึ่งการจะกระทำไต้เช่นนั้น ต้องมีการระมัดระวังพิจารณารายการผลประโยชน์ที่จะให้โดยครบถ้วน และสามารถจัดลำดับได้ถูกต้องว่าประเภทใดบ้างที่เป็นที่ชอบพอของฝ่ายจัดการและฝ่ายคนงานมากที่สุด รวมตลอดถึงการต้องกะประมาณต้นทุน และจำนวนเงินรวมของผลประโยชน์ตอบแทนทั้งสำรับ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วโครงการผลประโยชน์ที่จัดขึ้นจะเป็นไปในรูปใดนั้น ความต้องการขององค์การส่วนมากมักจะหวังผลที่จะให้แผนการดังกล่าวนั้น มีความสอดคล้องกันทั้งในแง่ของฝ่ายจัดการ และฝ่ายพนักงานให้มากที่สุด

2.  การให้พนักงานมีส่วนร่วมในการพิจารณากำหนด สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะช่วยให้โครงการจัดผลประโยชน์สำเร็จผลด้วยดี ก็คือการต้องรับฟังความคิดเห็น และการได้รับการสนับสนุนจากพนักงาน ดังนั้นจึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่ก่อนที่จะนำเอาโครงการผลประโยชน์ตอบแทนชนิดใหม่เข้ามาใช้นั้น ควรจะต้องมีการสำรวจความคิดเห็นของพนักงานเสียก่อน ในบางแห่งได้มีการกำหนดขึ้นในรูปของการให้มีตัวแทนเข้าร่วมพิจารณาระหว่างตัวแทนพนักงานและตัวแทนของฝ่ายจัดการในรูปของคณะกรรมการ ซึ่งฝ่ายคนงานก็จะสำรวจความต้องการ และให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับผลประโยชน์และบริการที่พนักงานส่วนใหญ่ต้องการให้ฝ่ายจัดการทราบ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าแผนการให้ประโยชน์ตอบแทนนี้ มักจะเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีส่วน เข้าร่วมพิจารณาด้วยเสมอ (โดยเฉพาะในกรณีของการพิจารณาจัดแผนการให้ประโยชน์ตอบแทนกับกลุ่ม) ก็ตาม แต่สำหรับในกรณีที่กฎหมายมิได้มีการกำหนดโดยเฉพาะนั้น องค์การก็อาจจะมีความ คล่องตัวยิ่งขึ้นที่จะจัดเป็นโครงการแบบต่าง ๆ หลายรูปแบบ เพื่อใช้สำหรับแต่ละกลุ่มเป็นการเฉพาะได้เช่นกัน การได้มีการสำรวจหรือให้มีส่วนร่วมจากพนักงานเช่นนี้ ย่อมเป็นผลที่ดีจะช่วยมั่นใจได้ว่า ฝ่ายจัดการได้ดำเนินการไปอย่างถูกต้องที่จะสนองความต้องการของพนักงานได้ตรงกับตามความต้อง การที่แท้จริงที่มีอยู่ นอกจากนี้วิธีการดังกล่าวยังช่วยให้มีการสื่อความที่ดีที่จะลบล้างปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดผลประโยชน์ตอบแทนให้หมดสิ้นไปได้

3.  การสื่อความเกี่ยวกับการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน ความสำเร็จของแผนการจ่ายตอบแทนนั้น จะมีได้มากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับความเชื่อใจระหว่างกัน ตลอดจนมีความเข้าใจและนิยมในสิ่งที่จัดขึ้นโดยฝ่ายการพนักงาน ด้วยเหตุนี้การรู้จักสื่อความอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นกลไกที่สำคัญยิ่งที่จะช่วยให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในสิ่งที่เป็นข้อดีต่าง ๆ ได้ในการสื่อความให้พนักงานเข้าใจโครงการผลประโยชน์ที่จัดให้นั้น มักจะมีบ่อยครั้งที่โครงการจัดผลประโยชน์บางประเภท เช่น การประกันชีวิตและการคิดเบี้ยบำเหน็จบำนาญ มักจะเป็นเรื่องที่เข้าใจยากและไม่เป็นที่ชัดแจ้ง ที่พนักงานจะเข้าใจได้ ดังนั้นจึงจำเป็นและสมควรที่จะต้องหาหนทางให้เกิดความเข้าใจง่ายด้วยวิธี ต่าง ๆ และให้เข้าใจได้อย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริงและควรจะต้องใช้สื่อวิธีต่าง ๆ กันที่จะให้เกิดความเข้าใจได้ง่าย และยังต้องกระทำอย่างต่อเนื่องอีกด้วย  ในเรื่องของการแก้ไขปัญหาในเรื่องการสื่อความนี้ การเพิ่มประสิทธิภาพอาจจะทำได้ผลยิ่งขึ้นด้วยวิธีการถ่ายทอดความเข้าใจเหล่านี้ผ่านหัวหน้าพนักงาน ซึ่งการมีเอกสารประกอบตลอดจนการใช้สื่อเพื่อการชี้แจงอื่น ๆ ที่มอบให้กับหัวหน้าคนงานที่จะไปชี้แจงต่อก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยได้มาก

4.  ข้อพิจารณาเกี่ยวกับการควบคุมต้นทุน ปัญหาอีกประการหนึ่งที่องค์การมักจะประสบเป็นอย่างมากคือ ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการจัดโครงการให้ประโยชน์ตอบแทนนี้มักจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นปัญหา ทั้งนี้เพราะการให้ประโยชน์ตอบแทนต่าง ๆ นั้น ส่วนมากมักจะเป็นรายการ ที่จะต้องจ่ายคงที่เรื่อยไป หรือเพิ่มขึ้นในทางเดียวเท่านั้น ดังนั้นฝ่ายจัดการจึงจำเป็นต้องตัดสินให้ถูกต้องตั้งแต่เริ่มแรกว่าจะสามารถสู้กับต้นทุนต่าง ๆ ได้ตลอดไปในสภาวะของเศรษฐกิจต่าง ๆ หรือไม่ทั้งนี้เพราะถ้าหากได้มีปัญหาทางภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้องค์การไม่สามารถจ่ายค่าตอบแทนชนิดนี้อย่าง ต่อเนื่องแล้ว ถ้าหากจำเป็นต้องเลิกหรือลดลง ผลเสียก็จะเกิดขึ้นอย่างมาก

นอกเหนือจากต้นทุนที่แท้จริงที่เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจ่ายตอบแทนแล้ว ในแง่ของค่าใช้จ่าย ที่จะต้องจ่ายเพื่อการบริหารโครงการผลประโยชน์ตอบแทนก็จะต้องพิจารณาด้วย ทั้งนี้เพราะสำหรับองค์การขนาดใหญ่นั้น ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการทำงานด้านนี้อาจจะสูงมาก ซึ่งต่างกับองค์การขนาดเล็กที่มีขนาดที่ไม่ใหญ่เกินไปนัก และมีจำนวนพนักงานไม่มาก การจัดทำก็จะสะดวกและง่าย เพื่อให้ปัญหานี้กระทำได้อย่างถูกต้อง หลายหน่วยงานจึงมักจะได้มีการปรึกษากับผู้ชำนาญการในภายนอก เพื่อที่จะให้เข้ามาช่วยจัดทำและดำเนินการด้านการจ่ายประโยชน์ตอบแทนนี้แทน เช่น การให้ธนาคารเป็น ผู้เข้ามาบริการด้านการเก็บเงินสะสมเป็นต้น การที่จะมีระบบการบริหาร การจ่ายประโยชน์ตอบแทนที่ดีนั้น ข้อที่ควรระมัดระวังที่สำคัญก็คือจะต้องมีการเก็บบันทึกประวัติข้อมูล ตลอดจนต้นทุนของ การจ่ายตอบแทน ไว้ให้เป็นระเบียบอยู่เสมอ ทั้งนี้เพราะข้อมูลเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อสำหรับการดำเนินการและติดตามค่าใช้จ่ายด้านนี้ ตลอดจนการมีข้อมูลไว้พร้อมเพื่อที่จะชี้แจงทำความเข้าใจกับคนงานได้ด้วย

5. การจะต้องติดตามถึงปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

โดยที่การจัดโครงการผลประโยชน์จ่ายตอบแทนมีส่วนอย่างมากต่อขวัญพนักงาน และถ้าทำได้ถูกต้องก็จะได้ผลคุ้มค่า ดังนั้นเพื่อที่จะให้ระบบการจ่ายตอบแทน ยังคงมีประสิทธิภาพต่อเนื่อง ฝ่ายจัดการจึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาติดตามรายการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแต่ละรายการด้วยความ ระมัดระวังและจะต้องปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ ปัญหาข้อเรียกร้องจากคนงานที่มีขึ้นเป็นระยะๆ ตามภาวะการเปลี่ยนแปลงหรือความต้องการของพนักงานที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ ตลอดจนความเข้าใจที่เปลี่ยนแปลงไปของแต่ละภาวะการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการคำนึงถึงความได้เปรียบเสียเปรียบ รวมทั้งปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเฉพาะหน้าอันเนื่องมาจากปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้ หรือการผิดบกพร่องอันสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติผิดในหน้าที่การบริหารงานบุคคลประการอื่น ๆ เหล่านี้ ล้วนแต่มีผลประทบต่อระบบการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนได้ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ฝ่ายจัดการที่หวังผลจะให้ระบบการจ่ายผลตอบแทนมีประสิทธิภาพจึงต้องหมั่นติดตามภาวะการณ์ที่เกี่ยวข้องที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนการพิถีพีถันพิจารณาแต่ละรายการของการจ่ายตอบแทน ให้เป็นชุดสำรับของการจ่ายตอบแทนที่มีประสิทธิภาพสูงอยู่เสมอ