ความล้าสมัยของบุคคลที่สำคัญต่อตำแหน่งงาน

ความล้าสมัย(Obsolescence)  หมายถึง  ภาวะที่เกิดขึ้นในตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ที่ซึ่งยังคงอยู่ในตำแหน่ง  แต่ขาดความชำนาญและความรู้ทั่วไป  ที่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นต่อตำแหน่งงานนั้น  และยังหมายรวมถึง การมองไม่เห็นความสำคัญของความชำนาญและความรู้ทั่ว ๆ ไป อื่นๆ ที่ซึ่งผู้บริหารหรือกลุ่มวิชาชีพส่วนมากถือว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะต้องติดตามความก้าวหน้าใหม่ ๆ ให้ทันเหตุการณ์อยู่ตลอดเวลา  ทั้งนี้เพราะความชำนาญและความรู้ดังกล่าวนับเป็นสิ่งที่สำคัญในการเสริมสร้างประสิทธิภาพแก่ผลงานที่จะสามารถทำได้ผลดี  ทั้งในงานปัจจุบันและงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ความล้าสมัยของนักบริหารนี้อาจจะเกิดขึ้นได้กับผู้บริหารทุกคนที่มิได้มีการติดตามความก้าวหน้าของการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาการและเทคนิคต่าง ๆ ในขณะปฏิบัติงาน  ซึ่งเทคนิควิทยาการที่ก้าวหน้านี้  ทุกอย่างล้วนแต่เป็นสิ่งที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยเสริมสร้างความมีประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานในยุคใหม่ ๆ หรือในทางกลับกันก็คือ เทคนิควิทยาการหรือวิธีปฏิบัติบางอย่างที่ใช้อยู่นั้นอาจจะหมดความจำเป็นไปแล้ว ซึ่งถ้าหากขาดทั้งสองแง่มุมแล้วก็ย่อมทำให้ผู้บริหารตกอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถปรับตัวหรือตามทันกับภาวะใหม่ ๆ ที่ซึ่งความรู้ใหม่ ๆ มักจะเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องนำมาใช้ประกอบเสมอ  ความล้าสมัยนี้อาจจะมีขนาดมากหรือน้อยต่างกัน  ย่อมขึ้นอยู่กับแต่ละคนที่จะมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาของตนได้แค่ไหนอย่างไร  ในบางกรณีปัญหาอาจจะเกิดขึ้นในลักษณะที่ว่า  ผู้บริหารได้รู้และเข้าใจหรือตามทันวิธีการใหม่อยู่แล้ว  เป็นแต่เพียงตัวเองไม่อยากจะใช้  ซึ่งผลที่ปรากฎก็คือจะมีผลกระทบต่อผลงานปัจจุบันของเขา  ซึ่งอย่างน้อยในกรณีเช่นว่านี้นับว่ายังไม่ร้ายแรงนัก เพราะอย่างน้อยก็ยังมีการตระหนักหรือรู้ถึงปัญหาดังกล่าว  แต่ปัญหาที่หนักกว่านั้นก็คือ  ความไม่สามารถติดตาม  และการไม่รู้ถึงหรือไม่ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ เลย แบบของการล้าสมัยที่ต่างกันนี้  ถ้าหากได้มีการเข้าใจปัญหาหรือได้ทราบแล้ว  ก็ย่อมช่วยให้การเสริมหรือการอบรมพัฒนาใหม่เป็นสิ่งที่เป็นไปได้และจะกระทำได้สะดวกขึ้น  แต่ถ้าผู้บริหารเป็นไปในลักษณะที่ว่า ทั้ง ๆ ที่เข้าใจถึงความล้าสมัยของตนแต่ดื้อดึงและปฏิเสธที่จะไม่ยอมรับข้อเท็จจริงอันนั้นและเฉยเมยหรือไม่สนใจ ต่อการช่วยเหลือในรูปใด ๆ ในกรณีเช่นนี้  การพัฒนาก็ย่อมจะยุ่งยากเป็นที่สุด