สาเหตุที่ทำให้ผู้บริหารล้าสมัยในการพัฒนาองค์การ

สาเหตุที่ทำให้ผู้บริหารล้าสมัย

ปัจจัยประการหนึ่งคือ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคนิควิทยาการ(Technological Obsolescence) กล่าวคือ ในงานบางด้านได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและตามแทบไม่ทัน  อย่างเช่นกรณีของเครื่องจักรสมองกลหรือคอมพิวเตอร์ ส่วนสาเหตุประการที่สองนั้นก็คือ การถูกเลื่อนขั้นไปตำแหน่งที่ตนไม่พึงประสงค์  เข้าไปทำงานในตำแหน่งที่ยังมีคุณสมบัติไม่พร้อมหรือไม่เหมาะสม และไม่อาจที่จะทำงานนั้นได้  ซึ่งในที่สุดก็ทำให้เกิดปัญหาของการเฉื่อยชา หรือหมดน้ำยาหรือขาดแรงจูงใจ และทำงานเรื่อย ๆ วันต่อวันแบบไม่มีอนาคต ซึ่งย่อมทำให้จมอยู่กับที่และแก่ลงไปพร้อมกับตำแหน่งงานนั้น ๆ  ในอีกกรณีหนึ่งของการล้าสมัยอาจไม่เกิดขึ้นกับพนักงานทุกคนในองค์การก็คือ  ถ้าหากสภาพแวดล้อมขององค์การเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  และเทคโนโลยี่ที่เกี่ยวกับงานมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปด้วยนั้น  ในกรณีเช่นนี้ผู้บริหารงานบางคนก็มักจะถูกกระทบทำให้ล้าสมัยไปด้วย

จากการค้นพบของนักวิชาการว่า  ในเรื่องล้าสมัยนี้  ปัญหาในเรื่องของอายุไม่ใช่เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถพัฒนาเป็นนักบริหารที่ดีได้ แต่ที่อาจจะเป็นปัญหาบ้างก็คือ  ข้อจำกัดในเรื่องของความเฉลียวฉลาดและความสามารถในการแยกแยะวิเคราะห์ปัญหา  ตลอดจนการไม่ตื่นตัวหรือสนใจที่จะก้าวหน้ารวมทั้งการมีความคิดแคบ  และไม่มีความทะเยอทยาน  ดังนั้นหากทราบถึงปัจจัยดังกล่าวแล้ว  วิธีป้องกันก็คงต้องแก้ไขในจุดอื่น ๆ ที่เป็นมาก่อน นั่นก็คือ ทั้งในขั้นตอนของการคัดเลือก การประเมินผลพนักงาน  ตลอดจนการให้คำแนะนำตลอดเวลาเกี่ยวกับอาชีพหรือหน้าที่การงานและการมีนโยบายทางด้านบริหารบุคคลที่คล่องตัวก็จะช่วยประคับประคองหรือช่วยลดปัญหาได้ตลอดทาง  นอกจากนี้การต้องพิจารณาสนใจ  ปรับปรุงและออกแบบงานให้เหมาะสมอยู่ตลอดเวลา ให้เป็นงานที่ท้าทายเป็นขั้น ๆ ตามลำดับ ก็จะเป็นวิธีสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาเรื่องความล้าสมัยให้น้อยลงไปได้ Herbert Kaufman ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อไปว่า การรู้จักใช้วิชาชีพและวิชาการใหม่ ๆ เข้ามาช่วยในการตัดสินใจ ตลอดจนการมีนโยบายให้มีการโยกย้ายเปลี่ยนงาน  โดยให้ไปมีประสพการณ์กับงานใหม่ ๆ จะเป็นวิธีที่สำคัญยิ่งที่มีผลในการช่วยให้มีการพัฒนาการจัดการ  ได้โดยทางอ้อมอย่างได้ผล ทางเลือกที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องความล้าสมัยในการจัดการนั้น อาจจะมี 3 ทางด้วยกัน คือ

1.  เปลี่ยนงานเสียใหม่ ที่อาจจะช่วยให้มีโอกาสได้ไปทำงานในจุดอื่นที่ได้ประโยชน์กว่า หรือลดข้อจำกัดของงานให้มีน้อยลงจากเดิม

2.  เปลี่ยนแปลงตัวผู้บริหาร โดยอาศัยแผนการพัฒนาการจัดการเป็นเครื่องช่วย

3.  ให้ปลดเกษียณหรือให้ออกจากงานก่อนเกษียณอายุ หรือเชิญให้ออก

ซึ่งวิธีที่สามนี้  ควรจะพยายามหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด และวิธีที่สองจะเป็นวิธีที่ควรใช้เป็นเครื่องช่วยมากที่สุด  โดยสรุป  กล่าวได้ว่าการพัฒนาการจัดการเป็นหนทางที่สำคัญที่จะใช้แก้ไขปัญหาความล้าสมัยในบรรดานักบริหารทั้งหลายได้