ความสัมพันธ์การจ่ายตอบแทนและความพอใจของพนักงาน

ความพึงพอใจในเรื่องของการจ่ายตอบแทนนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งก็เพราะว่าจากการวิจัยได้มีการสรุปโดย Nash และ Carroll ซึ่งชี้ให้เห็นว่าถ้าความพึงพอใจเกี่ยวกับการจ่ายมีอยู่ในระดับต่ำมากแล้ว ความพึงพอใจเกี่ยวกับงานก็จะต่ำลงด้วย ซึ่งจะมีผลทำให้การขาดงานและการลาออกมีอัตราสูง ซึ่งเป็นการเสียต้นทุนเป็นอย่างมาก ทฤษฎีสองทฤษฎีที่มุ่งพยายามจะอธิบายเกี่ยวกับความพึงพอใจของพนักงานหรือไม่พึงพอใจเกี่ยวกับการจ่ายนั้นก็คือ ทฤษฎีที่หนึ่งนั้นก็คือ Equity Theory ทฤษฎีว่าด้วยหลักของความเป็นธรรม หรือหลักความยุติธรรมซึ่งสรุปได้ง่าย ๆ ว่า ระบบการจ่ายที่เป็นที่พึงพอใจจะมีอยู่ได้ก็ต่อเมื่อพนักงานได้รับการจ่ายตอบแทนที่เหมาะสมกับงานอยู่เสมอ และหลักนี้ใช้ได้โดยทั่วไปของพนักงานทุกคน ซึ่งถ้าหากสามารถเปรียบเทียบได้อย่างเป็นธรรมแล้ว ในกรณีดังกล่าว พฤติกรรมก็จะเป็นไปในทางทีดี แต่ถ้าหากมีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น พนักงานก็จะมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น การลดผลผลิตเป็นต้น ถ้าหากพฤติกรรมไม่อาจจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ ทัศนคติของเขาก็จะเป็นไปในทางที่ความพึงพอใจจะมีน้อยลงและในที่สุดก็จะถอนตัวด้วยการลาออก หรือขาดงาน ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการพิสูจน์ให้ทราบโดยแน่ชัดว่า การจ่ายเพื่อผลงานนั้นย่อมเป็นสิ่งที่สามารกเพิ่มความพึงพอใจให้แก่พนักงานได้ คือให้ผลงานที่ดีแก่ผู้บริหารได้

 

ทฤษฎีทีสองคือ Discrepancy Theory หรือทฤษฎีการจ้างที่มีข้อขัดแย้งกัน ซึ่งหมายความว่า ความพึงพอใจเกี่ยวกับการจ่ายและความไม่พึงพอใจเกี่ยวกับการจ่าย มักจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่พนักงานได้มีการเปรียบเทียบผลตอบแทนที่ได้รับกับผลตอบแทนที่คาดคิดว่าจะได้รับ ซึ่ง Lawler ได้แสดงให้เห็นรูปแบบของความพึงพอใจของการจ่ายพร้อมทั้งสาเหตุต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งช่วยให้สามารถอธิบายถึงความสัมพันธ์ของการจ่ายและความพึงพอใจ โดย Nash and Carroll ได้สรุปความ เกี่ยวกับความพึงพอใจเกี่ยวกับการจ่ายว่ามักจะผันแปรหรือแตกต่างกันตามปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้คือ

ก.) ระดับค่าจ้างเงินเดือน (Salary Level) กล่าวคือ การจ่ายผลตอบแทนที่สูงย่อมจะมีส่วนในการส่งเสริมความพึงพอใจเกี่ยวกับการจ่ายภายในกลุ่มอาชีพเดียวกันในระดับต่าง ๆ กัน

ตัวอย่างเช่น ผู้จัดการใหญ่ของบริษัทที่ได้รับเงินเดือนสูงนั้น มักจะมีความพึงพอใจมากกว่าผู้จัดการใหญ่ของบริษัทที่ได้รับการจ่ายที่ต่ำกว่า

ข) ขึ้นอยู่กับระดับค่าครองชีพหรือต้นทุนค่าครองชีพของชุมชนนั้น ๆ กล่าวคือ ในที่ซึ่งมีอัตราค่าครองชีพหรือต้นทุนค่าครองชีพที่ต่างกัน กล่าวคือถ้าหากชุมชนใดมีค่าครองชีพที่ต่ำกว่ามาก ความพอใจจากการจ่ายตอบแทนก็ย่อมจะมีมากกว่าด้วย

ค.) การศึกษา (Education) ถ้าหากมีการศึกษาน้อยกว่าหรือระดับตํ่ากว่า ในกลุ่มดังกล่าวนั้น การจ่ายตอบแทนจะมีความพึงพอใจมากขึ้น

 

ง.) ขึ้นอยู่กับการคาดการณ์เกี่ยวกับอนาคต (Future Expectations) หมายถึงถ้าหากมีการมองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับงานในอนาคต ความพึงพอใจเกี่ยวกับการจ่ายก็จะมีสูง

จ.) ขึ้นอยู่กับเพศ กล่าวคือ พนักงานสุภาพสตรีจะมีความพึงพอใจเกี่ยวกับการจ่ายมากกว่า พนักงานที่เป็นชาย

ฉ.) ขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัยของแต่ละคน กล่าวคือ คนที่มีความเฉลียวฉลาดและมีความมั่นใจในตัวเองมากเกินไปซึ่งมักจะเป็นคนแข็ง ที่ซึ่งจะมีความพึงพอใจในการจ่ายที่น้อยกว่า

ช.)ขึ้นอยู่กับเกณฑ์การจ่าย (Pay Basis) กล่าวคือ ถ้าหากการจ่ายตอบแทนเป็นที่เข้าใจและยอมรับว่าเป็นระบบที่ยึดถือตามผลงานแล้ว ความพอใจก็จะมีสูง กล่าวโดยสรุป คนส่วนมากมักจะเชื่อมั่นและหวังที่จะมีระบบการจ่ายที่นำไปสู่ความพึงพอใจ ด้วยวิธีการจ่ายต่าง กัน