สาเหตุที่ทำให้ต้องมีการโยกย้ายตำแหน่งงาน

การโยกย้าย (Transfers)

การโยกย้าย หมายถึง การเปลี่ยนตำแหน่งงานให้กับพนักงานที่จะให้ไปสวมตำแหน่งอื่นที่ได้รับการจ่ายตอบแทนและมีฐานะ ตลอดจนความรับผิดชอบในทำนองเดียวกัน การโยกย้ายนี้ถือเป็นการเปลี่ยนตำแหน่งงานในทางราบจากตำแหน่งหนึ่งไปสู่อีกตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากการเลื่อนชั้น ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนตำแหน่งในทางดิ่งตามลำดับชั้นและความรับผิดชอบที่สูงขึ้น ในการโยกย้ายนี้มักมีการเปลี่ยนแปลงระดับความรับผิดชอบและฐานะเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้เพราะชั้นตำแหน่งและระดับในองค์การส่วนมากที่อยู่ด้วยกันในองค์การเดียวกันนั้น มักจะมีความใกล้เคียงกันและมีการกำหนดไว้อย่างกว้าง ๆ พอที่จะเทียบกันได้อยู่เป็นส่วนมากแล้ว

การต้องทำการโยกย้ายพนักงานนั้น สาเหตุอาจจะเนื่องมาจากความจำเป็นทางด้านธุรกิจเอง หรืออาจจะโดยการขอของพนักงานเพราะอาจจะไม่ชอบงานที่ทำอยู่เดิมก็ได้ ในแง่ของการโยกย้ายที่ทำขึ้นเพราะความต้องการของธุรกิจนั้น มีเหตุผลหลายประการ เช่น อาจจะเป็นเพราะผลอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงในปริมาณจำนวนผลผลิต หรือการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงโครงสร้าง หรือ มีการขยายสายการผลิตใหม่หรือยกเลิกสายการผลิตของสินค้าบางชนิด และการปรับปรุงการปฏิบัติงาน ของธุรกิจในจุดต่าง ๆ นอกจากนี้สาเหตุที่พนักงานขาดงานบ่อยโดยเฉพาะพนักงานที่ดำรงตำแหน่ง ฐานะที่สำคัญก็มักจะทำให้จำเป็นต้องมีการโยกย้ายบุคคลอื่นเข้าไปสวมตำแหน่งแทน

กรณีของการโยกย้ายนี้ส่วนมากมักจะเป็นเรื่องที่ฝ่ายจัดการต้องการแก้ไขปัญหา เพราะได้มีปัญหาในบุคคลบางคนที่ทำงานไม่ได้ผลในตำแหน่งที่มอบให้ในปัจจุบัน และได้ตรวจพบว่าคุณสมบัติไม่เหมาะสมกับงานที่ทำอยู่ และอาจจะเป็นการดีกว่าถ้าหากให้ไปอยู่ในตำแหน่งใหม่ในจุดอื่น แต่ในเรื่องนี้โดยปกติแล้วผู้บริหารมักจะมองข้าม และมิได้สังเกตเห็นได้ง่ายนัก กล่าวคือเมื่อได้บรรจุคนในที่ใดแล้วก็มักจะลืมไปเลย

หลาย ๆ กรณี พนักงานมักจะเป็นผู้ริเริ่มโดยยื่นคำขอที่จะย้ายตัวเอง เพราะไม่ชอบสภาพงาน ในปัจจุบันหรืออาจจะเห็นว่าขาดหนทางก้าวหน้าเมื่อเทียบกับแผนกอื่น วิธีปฏิบัติที่ใช้กันโดยทั่วไปในการดำเนินการตามคำขอนี้ ส่วนมากแล้วจะต้องให้พนักงานผู้ขอย้ายนี้ได้กล่าวชี้แจงต่อผู้บังคับบัญชา ของตนให้ทราบเรื่องเสียก่อน ผู้รับผิดชอบในทางการบริหารงานบุคคลควรจะเป็นเพียงผู้ประสานงาน โดยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในกรณีของการย้ายภายในแผนกเดียวกัน แต่ถ้าหากเป็นการโยกย้ายข้ามแผนก โดยเฉพาะในตำแหน่งที่เปิดขึ้นมาใหม่ในแผนกใหม่ การสัมภาษณ์โดยผู้บริหารของแผนกใหม่ ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องกระทำเพื่อให้มีการยอมรับในจุดใหม่นี้ด้วย

การบริหารการโยกย้าย

การโยกย้ายอาจจะกระทำเป็น 2 วิธีคือ การโยกย้ายชั่วคราวและการโยกย้ายที่กระทำโดยถาวร ในกรณีของการเปลี่ยนแปลงทางด้านผลผลิตหรือการขาดงานบ่อยของพนักงานที่อยู่ในตำแหน่งสำคัญ การโยกย้ายก็มักจะกระทำเป็นการชั่วคราว แต่ถ้าหากในกรณีของการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจขององค์การที่เป็นการเปลี่ยนแบบถาวร หรือการปรับปรุงโครงสร้างใหม่ หรือการให้ย้ายตามคำขอของพนักงาน หรือการแก้ไขปัญหาการทำงานไม่ตรงตำแหน่ง การโยกย้ายในกรณีต่าง ๆ เหล่านี้มักจะเป็นการโยกย้ายที่กระทำอย่างถาวร