หลักเกณฑ์ในการเลื่อนตำแหน่ง

หลักเกณฑ์ในการเลื่อนตำแหน่ง

1.  หลักความรู้ความสามารถ การเลื่อนตำแหน่งโดยวิธีนี้ยึดถือความรู้ ความสามารถเป็นปัจจัยประกอบการพิจารณาเป็นสำคัญ ไม่คำนึงถึงความมีอาวุโส ประสบการณ์ในการปฏิบัติงานแต่อย่างใด  เครื่องมือสำหรับการเลื่อนตำแหน่งโดยวิธีนี้  อาศัยการสอบเป็นเกณฑ์วัด  ซึ่งบางกรณีก็ใช้การทดสอบโดยให้ทดลองปฏิบัติงานโดยตรง  วิธีการนี้อาจมีผลดีในแง่ที่จะสามารถเลือกบุคคลที่มีความรู้  ความสามารถสูงเข้ามาปฏิบัติงานได้  โดยเฉพาะตำแหน่งทางวิชาชีพ เช่น วิศวกร หรือนักคำนวณ เป็นต้น  นอกจากนี้ยังช่วยจูงใจให้ผู้ปฏิบัติงานตั้งใจปฏิบัติหน้าที่โดยเต็มความรู้ความสามารถ เพราะความสามารถของตนเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องเสริมฐานะตำแหน่ง และความก้าวหน้าของตนได้  นอกจากนี้ยังสามารถขจัดผู้ที่ไม่มีความสามารถออกไปเสียจากองค์การ  สร้างความภูมิใจต่อการปฏิบัติงงานในตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ ให้แก่คนงานได้เป็นอย่างดี

2.  หลักอาวุโสและประสบการณ์ การเลื่อนตำแหน่งโดยวิธีนี้  ยึดถือหลักการพิจารณาถึงอาวุโสและประสบการณ์  ดังนั้นจึงควรได้พิจารณาถึงความหมายของคำว่าอาวุโสให้ถูกต้องตรงกันเสียก่อน  โดยทั่วไปอาวุโสในการปฏิบัติงานนั้น หมายถึง  การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ปฏิบัติงงานอยู่ในองค์การนั้นมาเป็นเวลานาน  ด้วยความรู้ความสามารถของตนเอง  เหตุว่า หากไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะปฏิบัติหน้าที่การงานได้  ก็จะต้องถูกให้ออกจากองค์การไป  อนึ่ง การปฏิบัติงานเป็นเวลานานย่อมมีความรอบรู้และประสบการณ์ในการปฏิบัติงานมาก  ดังนั้นการที่ได้ปฏิบัติหน้าที่การงานมาด้วยความวิริยะและใช้ความรู้และความสามารถอย่างเต็มภาคภูมิมาเป็นเวลานาน จึงควรได้รับการตอบแทนโดยการเลื่อนตำแหน่ง  เพื่อเป็นสินน้ำใจในความจงรักภักดีและปฏิบัติงานกับองค์การมาเป็นเวลานาน  อย่างไรก็ดีมีข้อสังเกตว่า ในบางแห่งการพิจารณาอาวุโส  มิได้คำนึงถึงระยะเวลาของการปฏิบัติงานในองค์การแต่เพียงอย่างเดียว  หากแต่พิจารณาถึงอัตราเงินเดือนที่ได้รับเป็นปัจจัยสำคัญในการเลื่อนตำแหน่งมากกว่าระยะเวลาของการปฏิบัติงานในองค์การแต่เพียงอย่างเดียว  หากแต่พิจารณาถึงอัตราเงินเดือนที่ได้รับเป็นปัจจัยสำคัญในการเลื่อนตำแหน่งมากกว่าระยะเวลาของการปฏิบัติงานนั้น เช่น ในระบบบริหารราชการของไทย เป็นต้น

3.  หลักความรู้ความสามารถและอาวุโส โดยเหตุที่หลักการเลื่อนตำแหน่งทั้งสองที่กล่าวมาแล้ว  มีข้อบกพร่องอยู่บ้างทั้ง 2 วิธี  ดังนั้น วิธีที่ 3 จึงมุ่งแสวงหาจุดที่จะประสานแนวความคิดของหลักทั้งสองที่กล่าวมาแล้ว  โดยการสังเคราะห์สิ่งที่ดีของหลักทั้งสองเข้าด้วยกัน  กล่าวคือ  ในการเลื่อนตำแหน่ง ให้พิจารณาถึงความรู้ความสามารถ ซึ่งจะทราบได้โดยการทดสอบและพิจารณาถึงอาวุโสในการปฏิบัติงาน  ซึ่งจะทราบได้จากหลักฐานการปฏิบัติงานของบุคคลนั้น ๆ โดยวิธีนี้เชื่อกันว่า  น่าจะเป็นหลักที่ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่ง  และสามารถได้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถปฏิบัติงานในองค์การได้

4.  หลักระบบอุปถัมภ์ โดยที่การปฏิบัติงานในองค์การเกือบทุกแห่งไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงให้พ้นจากระบบอุปถัมภ์ได้  และเพราะเหตุว่าระบบอุปถัมภ์นั้น  หากนำไปใช้ในขอบเขตที่พอเหมาะพอควรดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น  ก็จะอำนวยประโยชน์ต่อการบริหารงานอยู่ไม่น้อย  ดังนั้นในการเลื่อนตำแหน่งบางตำแหน่ง  ซึ่งแม้ว่าจะมิได้เป็นตำแหน่งที่ระบุไว้ว่าจะต้องสรรหาบุคคลเข้ามาโดยระบบอุปถัมภ์ก็ตาม  แต่ตำแหน่งนั้น หากสรรหาบุคคลมาปฏิบัติงานโดยระบบอุปถัมภ์แล้ว จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อการปฏิบัติงานมาก  โดยนัยนี้การเลื่อนตำแหน่งนั้น ๆ จึงมีความจำเป็นต้องนำระบบอุปถัมภ์มาใช้  ยิ่งไปกว่านั้น  การเลื่อนตำแหน่งบางตำแหน่งอาจถูกอิทธิพลของระบบอุปถัมภ์มาบีบบังคับให้จำต้องปฏิบัติตามก็มี