องค์การอรูปนัยกับการบริหารงานบุคคล

2.  องค์การอรูปนัยกับการบริหารงานบุคคล

การศึกษาพิจารณาเกี่ยวกับองค์การอรูปนัย (Informal organization) จะช่วยให้เกิดความเข้าใจกันดียิ่งขึ้นเกี่ยวกับการจัดองค์การบริหารงานบุคคล  ซึ่งมีลักษณะเป็นองค์การรูปนัย (Formal organization) เพราะเหตุว่าองค์การอรูปนัยนั้นมีอยู่ในเกือบจะทุกองค์การ

องค์การอรูปนัยนี้  อาจพิจารณาความหมายได้ในหลายแง่หลายมุม เพราะเหตุว่าองค์ประกอบขององค์การอรูปนัยมิได้มีกำหนดไว้แน่นอนตายตัวเป็นสากล  แม้กระนั้นก็ดี  ได้มีนักวิชาการหลายท่านได้พยายามศึกษาค้นคว้า  เพื่อจะหาลักษณะที่เป็นองค์ประกอบโดยทั่วไปขององค์การอรูปนัย เพื่อกำหนดเป็นเกณฑ์สำหรับศึกษา  ซึ่งปรากฎว่ามีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ทัศนะไว้หลายอย่างต่างกัน  เช่น  ศาสตราจารย์ Herbert A. Simon  ได้ให้ความหมายของ “องค์การอรูปนัยว่า  หมายถึงความสัมพันธ์อันไม่เป็นทางการในองค์การใดองค์การหนึ่ง  ซึ่งจะมีผลสะท้อนต่อการตัดสินใจ  และบางครั้งอาจจะมีผลทำให้การดำเนินงานตามลักษณะแห่งองค์การรูปนัยต้องเปลี่ยนแปลงไปได้ ศาสตราจารย์ชุบ  กาญจนประกร ได้ให้อรรถาธิบายว่า “องค์การอรูปนัยนั้นหมายถึงองค์การที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์อันเป็นส่วนตัวของสังคม เหมือนร่างแห (ที่ช่วยยึดโยงบุคคลในองค์การเข้าด้วยกันเป็นองค์การอีกรูปหนึ่ง)  ที่ไม่ได้กำหนดขึ้นไว้โดยองค์การรูปนัย  องค์การอรูปนัยอาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งในลักษณะที่เป็นการแย้ง  การเป็นปรปักษ์ต่อกันในรูปต่างๆ รวมทั้งที่เกิดขึ้นโดยฐานแห่งความเป็นเพื่อนในบรรดาบุคคที่ร่วมกันทำงานอยู่ก็ได้  นอกจากนี้  ศาสตราจารย์ Chester I. Barnard  ได้กล่าวว่า “โดยนัยแห่งคำว่าองค์การอรูปนัยนั้น  หมายถึงการที่เกิดองค์คณะบุคคลขึ้น  เป็นผลสืบเนื่องจากการติดต่อเป็นส่วนตัว  และการที่ถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน  รวมทั้งการคบหาสมาคมของบุคคลเป็นองค์คณะในรูปต่าง ๆ  ซึ่งคำจำกัดความนี้แม้จะมิได้กล่าวถึงความมุ่งหมายที่มารวมกันเป็นองค์คณะบุคคล  แต่ผลที่เกิดขึ้นอันเป็นลักษณะสำคัญขององค์การประเภทนี้คือความสัมพันธ์แบบอรูปนัยที่ไม่มีลักษณะแน่นอนและมักจะไม่มีโครงสร้าง สำหรับผู้เขียนมีความเห็นว่า  องค์การอรูปนัยคือกลุ่มสมาชิกขององค์การรูปนัยหรือนอกองค์การที่รวมกันขึ้น  ในลักษณะส่วนบุคคล  โดยมีวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งที่จะดำเนินการร่วมกัน  ความสำเร็จขององค์การขึ้นอยู่กับภาวะผู้นำและภาวะทางใจของสมาชิกเป็นสำคัญ

ความสำคัญขององค์การอรูปนัยที่มีต่อการบริหารงานบุคคลนั้น  ส่วนใหญ่เป็นไปในรูปพฤติกรรมของสมาชิกในองค์การเสียเป็นส่วนใหญ่  จากการศึกษาค้นคว้าทดลองของ เอลตัน เมโย ที่ฮอร์โทร  ปรากฎว่าพฤติกรรมของกลุ่มคนงานมีอิทธิพลและบทบาทอย่างสำคัญต่อการบริหารและการปฏิบัติงานของพนักงานเป็นอย่างมาก  โดยเฉพาะการสร้างปทัสถานของกลุ่ม (Group norms) ในการปฏิบัติงานนั้น  โดยอาศัยการลงโทษทางสังคม(Social sanction)เป็นเครื่องมือสนับสนุนและกำกับความประพฤติของสมาชิกในกลุ่มนั้นๆ