แนวทางสำหรับการจัดให้มีการทดสอบ

ต่อไปนี้จะได้ให้คำแนะนำที่เป็นแนวทางเพื่อการริเริมเพื่อจัดให้มีแผนการทดสอบขึ้นในบริษัท ซึ่งมีลำดับขั้นของการแนะนำดังนี้ 5 ประการด้วยกัน คือ 1. การใช้การทดสอบนั้นควรจะถือว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้เพิ่มเติม กล่าวคือไม่ ควรที่จะใช้เครื่องมือทดสอบเป็นเพียงเครื่องมืออันเดียวที่เป็นเทคนิคในการคัดเลือก หากแต่ควรจะใช้เป็นเครื่องมือเพิ่มเติมควบคู่กับเทคนิคและเครื่องมืออื่น ๆ เช่น การสัมภาษณ์หรือการตรวจสอบข้อมูลพื้นฐาน ประวัติ เหตุผลก็เพราะว่าการทดสอบนั้นมีปัญหาเรื่องเกี่ยวกับความถูกต้องอยู่มากหลายครั้งคะแนนจากการทดสอบเป็นแต่เพียงแนวทางที่จะใช้วัดผลงานและเป็นเพียงเครื่องมืออันหนึ่ง ที่จะช่วยพวกเราให้ทราบอย่างคร่าว ๆ เกี่ยวกับตัวผู้สมัครว่าจะประสพความล้มเหลวเพียงใด มากกว่าที่จะช่วยบอกให้เราทราบได้ชัดแจ้งว่าเราจะประสพความสำเร็จเพียงใด 2.  ควรจะต้องมีการทดสอบความถูกต้องของการทดสอบที่ใช้อยู่ในบริษัท ทั้งนี้เพราะว่าข้อสอบที่มีอยู่อาจจะไม่เหมาะสมซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรม การทดสอบที่ดีจำเป็นจะต้องมีการสอบทานเกี่ยวกับความถูกต้องเสมอและการทดสอบแต่ละอันก็จะเหมาะสมกับแต่ละองค์การต่างกัน 3.  ควรจะต้องมีการวิเคราะห์มาตรฐานที่ใช้ในการวัดเกี่ยวกับการว่าจ้างและ การเลื่อนชั้น ในที่นี้ก็คือควรจะตั้งคำถามตัวเองอยู่เสมอว่า ทำไมเราจึงใช้มาตรฐานหรือเกณฑ์นั้น เป็นเครื่องมือในการวัดและพฤติกรรมที่เราต้องการจะรู้จริง ๆ เกี่ยวกับงานนั้นคืออะไรกันแน่ เรื่องเหล่านี้ล้วนแต่เป็นภาระที่จะต้องพิสูจน์ ที่จะต้องสามารถชี้แจงได้เกี่ยวกับตัวเกณฑ์เช่นความฉลาดที่มีความสัมพันธ์ต่อความสำเร็จ 4.  ข้อควรระมัดระวังเกี่ยวกับเงื่อนไขของการทดสอบ เงื่อนไขของการทดสอบ มักจะมีความสำคัญยิ่งที่มีผลกระทบต่อผลของการทดสอบ ตัวอย่างเช่นสถานที่ทำการทดสอบจำเป็นที่จะต้องมีความเป็นอิสระ และปลอดจากสิ่งรบกวนตามสมควร และจะต้องมีเงื่อนไขที่ไม่หนวกหูที่ทำให้สมาธิเสีย ตลอดจนแสงจะต้องมีอย่างพอเพียงและอากาศจะต้องถ่ายเทได้สะดวก ดังนั้นจึงเป็นข้อที่จะต้องพิจารณาเช่นกัน ที่จะต้องให้การทดสอบนั้นเป็นการทดสอบที่อยู่ในสภาพเงื่อนไขของ สภาพแวดล้อมแบบเดียวกัน เพื่อจะให้แน่ใจได้ว่าการได้คะแนนสูงตํ่านั้นจะไม่ผิดเพี้ยนไปเพราะเหตุอันสืบเนื่องมาจากเงื่อนไขของการทดสอบดังกล่าว 5.  จะต้องระมัดระวังไม่ให้การทดสอบเป็นเครื่องมือในการล้วงความลับอัน เป็นสิทธิสวนบุคคล กล่าวคือ ผู้ใช้การทดสอบจะต้องตระหนักว่าข้อมูลที่จะได้จากการทดสอบนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวส่วนตัวที่จะต้องถือเป็นความลับ ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้หลายหน่วยงานจำเป็นต้องใช้ผู้ชำนาญการที่จะต้องทำเรื่องนี้ และด้วยเหตุที่ผู้ที่เข้ามาทำการทดสอบนั้นได้เข้ามาทดสอบด้วยใจสมัคร ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่พึงต้องรักษามารยาทในการรักษาความลับในองค์การ […]

ข้อแนะนำเกี่ยวกับวิธีการทดสอบ

เพื่อที่จะให้การทดสอบที่ใช้มีความถูกต้องและเป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ตามสมควรจากคะแนนที่สอบ ว่ามีความสัมพันธ์ที่ใช้การคาดการณ์ความสำเร็จในการปฏิบัติงานของแต่ละคนได้หรือไม่ ผู้ที่ทำการทดสอบย่อมจำเป็นต้องมีการกำกับให้การทดสอบนั้นมีความถูกต้องอยู่ตลอดเวลาก่อนที่จะนำไปใช้ทุก ๆ ครั้งที่ใช้การทดสอบนั้นจะต้องแน่ใจว่าคะแนนที่ได้ใช้ในการทดสอบสามารถเป็นเครื่องชี้ที่เชื่อถือได้ดีตามสมควรว่า ถ้าหากไปทำงานจริง ๆ แล้วจะสามารถทำได้สำเร็จตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ กระบวนการที่จะช่วยให้มีการทำให้ถูกต้องหรือที่เรียกว่า Validation Process ประกอบด้วย 5 ขั้นตอนดังนี้ คือ 1.  จะต้องทำการวิเคราะห์งาน นั่นคือในขั้นแรกที่สุดจำเป็นที่จะต้องมีการวิเคราะห์งานให้รู้แจ่มแจ้งเพื่อที่จะได้คำบรรยายลักษณะงานและคุณสมบัติของคนที่ต้องการได้อย่างครบถ้วนถูกต้อง ซึ่งในขั้นของคุณลักษณะของคนที่ต้องการนี้นั่นเอง ที่ต้องมีการระบุถึงแบบของบุคคล ตลอดจนความชำนาญที่เชื่อว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีสำหรับความสำเร็จของงาน หรือที่จะทำให้งานนั้นสำเร็จ ตัวอย่างเช่น การที่จะต้องรู้ว่าผู้สมัครจะต้องมีการกระตือรือร้นเพียงใด ต้องจดชวเลขได้หรือไม่ ต้องประกอบเครื่องมือเครื่องไม้บางอย่างที่ง่าย ๆ หรือไม่ต้องรู้ส่วนปลีกย่อยของเครื่องมือเครื่องไม้ด้วยหรือเปล่า คุณสมบัติเหล่านี้นับว่าเป็นตัวเกณฑ์ที่จะใช้เสาะหาตัวบุคคลหรือที่เรียกว่า Predictor ด้วย เหตุที่บุคลิกภาพของคนงานและความชำนาญที่ผ่านมาเชื่อว่าจะช่วยให้งานสำเร็จนี้เอง ในขั้นแรกนี้จึงจำเป็นที่จะต้อง ให้คำจำกัดความเกี่ยวกับความหมายของความสำเร็จของงานที่กล่าวนั้น ทั้งนี้เพราะว่าความสำเร็จดังกล่าวนี้เองเป็นสิ่งที่ท่านจะถือเป็นเกณฑ์สำหรับที่จะใช้รับคน  มาตรฐานของความสำเร็จนี้เราเรียกว่า “เกณฑ์” หรือ “Criterion” ซึ่งจุดสนใจของท่านก็คงจะอยู่ที่การพิจารณา ผลผลิตที่สัมพันธ์กับเกณฑ์ต่าง ๆ หรือปริมาณและคุณภาพของงานควบคู่กับข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลนั้น เช่น อัตราการขาดงานหรือจำนวนปีที่เคยทำงานเป็นต้น หรือความสามารถในการพิจารณาใช้ดุลยพินิจของคนบางคนที่จะทำงานในตำแหน่งหัวหน้างาน 2.  จะต้องพิจารณาเลือกชนิดของการทดสอบ หลังจากที่ได้มีการวิเคราะห์งานแล้ว ขั้นต่อไปก็คือการพิจารณาเลือกชนิดการทดสอบที่ท่านคิดว่าจะเป็นเครื่องมือดีที่สุดที่จะช่วยในการพิจารณาเลือก โดยเครื่องมือนั้นจะต้องมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับความสำเร็จของงานเสมอ การที่จะเลือกการทดสอบให้ถูกต้องเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับความชำนาญหรือการได้เคยทดลองทำมาก่อนหรือการพยายามนึกคิดเกี่ยวกับเครืองมือให้ดีที่สุด และต้องระลึกอยู่เสมอว่าไม่ควรที่จะด่วนตัดสินใจใช้เครื่องมือชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงสักแต่ว่าให้มีการทดสอบสักอย่างเท่านั้น ในทางตรงกันข้ามบางครั้งการใช้ชนิดของการทดสอบหลาย […]