ข้อแนะนำเกี่ยวกับวิธีการทดสอบ

เพื่อที่จะให้การทดสอบที่ใช้มีความถูกต้องและเป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ตามสมควรจากคะแนนที่สอบ ว่ามีความสัมพันธ์ที่ใช้การคาดการณ์ความสำเร็จในการปฏิบัติงานของแต่ละคนได้หรือไม่ ผู้ที่ทำการทดสอบย่อมจำเป็นต้องมีการกำกับให้การทดสอบนั้นมีความถูกต้องอยู่ตลอดเวลาก่อนที่จะนำไปใช้ทุก ๆ ครั้งที่ใช้การทดสอบนั้นจะต้องแน่ใจว่าคะแนนที่ได้ใช้ในการทดสอบสามารถเป็นเครื่องชี้ที่เชื่อถือได้ดีตามสมควรว่า ถ้าหากไปทำงานจริง ๆ แล้วจะสามารถทำได้สำเร็จตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ กระบวนการที่จะช่วยให้มีการทำให้ถูกต้องหรือที่เรียกว่า Validation Process ประกอบด้วย 5 ขั้นตอนดังนี้ คือ

1.  จะต้องทำการวิเคราะห์งาน นั่นคือในขั้นแรกที่สุดจำเป็นที่จะต้องมีการวิเคราะห์งานให้รู้แจ่มแจ้งเพื่อที่จะได้คำบรรยายลักษณะงานและคุณสมบัติของคนที่ต้องการได้อย่างครบถ้วนถูกต้อง ซึ่งในขั้นของคุณลักษณะของคนที่ต้องการนี้นั่นเอง ที่ต้องมีการระบุถึงแบบของบุคคล ตลอดจนความชำนาญที่เชื่อว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีสำหรับความสำเร็จของงาน หรือที่จะทำให้งานนั้นสำเร็จ ตัวอย่างเช่น การที่จะต้องรู้ว่าผู้สมัครจะต้องมีการกระตือรือร้นเพียงใด ต้องจดชวเลขได้หรือไม่ ต้องประกอบเครื่องมือเครื่องไม้บางอย่างที่ง่าย ๆ หรือไม่ต้องรู้ส่วนปลีกย่อยของเครื่องมือเครื่องไม้ด้วยหรือเปล่า คุณสมบัติเหล่านี้นับว่าเป็นตัวเกณฑ์ที่จะใช้เสาะหาตัวบุคคลหรือที่เรียกว่า Predictor ด้วย เหตุที่บุคลิกภาพของคนงานและความชำนาญที่ผ่านมาเชื่อว่าจะช่วยให้งานสำเร็จนี้เอง ในขั้นแรกนี้จึงจำเป็นที่จะต้อง ให้คำจำกัดความเกี่ยวกับความหมายของความสำเร็จของงานที่กล่าวนั้น ทั้งนี้เพราะว่าความสำเร็จดังกล่าวนี้เองเป็นสิ่งที่ท่านจะถือเป็นเกณฑ์สำหรับที่จะใช้รับคน  มาตรฐานของความสำเร็จนี้เราเรียกว่า “เกณฑ์” หรือ “Criterion” ซึ่งจุดสนใจของท่านก็คงจะอยู่ที่การพิจารณา ผลผลิตที่สัมพันธ์กับเกณฑ์ต่าง ๆ หรือปริมาณและคุณภาพของงานควบคู่กับข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลนั้น เช่น อัตราการขาดงานหรือจำนวนปีที่เคยทำงานเป็นต้น หรือความสามารถในการพิจารณาใช้ดุลยพินิจของคนบางคนที่จะทำงานในตำแหน่งหัวหน้างาน

2.  จะต้องพิจารณาเลือกชนิดของการทดสอบ หลังจากที่ได้มีการวิเคราะห์งานแล้ว ขั้นต่อไปก็คือการพิจารณาเลือกชนิดการทดสอบที่ท่านคิดว่าจะเป็นเครื่องมือดีที่สุดที่จะช่วยในการพิจารณาเลือก โดยเครื่องมือนั้นจะต้องมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับความสำเร็จของงานเสมอ การที่จะเลือกการทดสอบให้ถูกต้องเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับความชำนาญหรือการได้เคยทดลองทำมาก่อนหรือการพยายามนึกคิดเกี่ยวกับเครืองมือให้ดีที่สุด และต้องระลึกอยู่เสมอว่าไม่ควรที่จะด่วนตัดสินใจใช้เครื่องมือชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงสักแต่ว่าให้มีการทดสอบสักอย่างเท่านั้น ในทางตรงกันข้ามบางครั้งการใช้ชนิดของการทดสอบหลาย ๆ อย่างประกอบกันเป็นชุดกลับจะให้ประโยชน์สมบูรณ์ขึ้น หรือนั่นก็คือการมุ่งพยายามวัดในหลายแง่มุมเกี่ยวกับสิ่งซึ่งต้องใช้หรือที่จะเป็นตัวคาดการณ์ไว้ เช่น ทั้งในเชิงของความกระตือรือร้น การสามารถสังเกตเห็นในเชิงปริมาณตลอดจนความสามารถเห็นตัวเลข เป็นต้น

3.  การดำเนินการทดสอบ เมื่อได้เลือกชนิดการทดสอบแล้ว ก็เป็นเรื่องของการดำเนินการจัดให้มีการทดสอบ ซึ่งในที่นี้ก็มีทางเลือกอยู่ 2 ทางคือ หนึ่งท่านอาจจะนำมาใช้ทดสอบกับพนักงานที่ได้ว่าจ้างอยู่ก่อนแล้ว หลังจากนั้นก็จะสามารถเอาไปเปรียบเทียบพิจารณากับผลงานที่ทำได้ในกลุ่มเหล่านั้น ซึ่งเป็นการตรวจดูความถูกต้องจากปัจจุบันก่อน หรือเรียกว่า Concurrent Validation ข้อดี ของการทำเช่นนี้ก็คือ จะทำให้ตัวเลขเกี่ยวกับผลงานมีความเชื่อถือได้และมีพร้อมอยู่ในมือที่จะใช้เป็นมาตรฐานและประกอบพิจารณา ส่วนข้อเสียก็คือพนักงานในปัจจุบันที่นำมาทดลองอาจจะไม่ใช่เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับที่จะนำไปเปรียบเทียบกับผู้ที่เข้ามาทำงานใหม่ ๆทั้งนี้เพราะพนักงานปัจจุบันส่วนใหญ่มักจะได้รับการฝึกฝนงานมาก่อนแล้ว และก็ถูกคัดเลือกหรือกลั่นกรองด้วยเครื่องมือหรือเทคนิคที่นิยมใช้อยู่ในปัจจุบันแล้ว ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการให้มีความถูกต้องเกี่ยวกับการทดสอบก็คือ ความถูกต้องในการบริหารหรือจัดทำการทดสอบผู้สมัครใหม่ก่อนที่จะมีการจ้างนั่นเอง วิธีการที่ควรทำในขั้นนี้ก็คือ ภายหลังจากที่เราได้ผู้สมัครที่ต้องการจะจ้างแล้ว ควรที่จะได้มีการนำผู้สมัครใหม่เหล่านี้มาทดลองกับเทคนิควิธีการคัดเลือกที่ใช้อยู่ (โดยไม่เอาผลมาประกอบใช้) หลังจากนั้นเมื่อพนักงานได้เข้าไปทำงานจริง ๆ สักระยะหนึ่งจึงค่อยนำเอาเครื่องมือนั้นมาวัดผลและเปรียบเทียบกับการวัดในครั้งแรก วิธีนี้เรียกว่า Predictive Validation

4.  ขั้นของการวัดผลงานโดยใช้Criterion ต่าง ๆ ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในขั้นที่ 1.

5.  การพิจารณาเทียบความสัมพันธ์ของคะแนนที่ได้ทำการทดสอบและ

Criterion ขั้นนี้ก็คือขั้นที่จะต้องมีการทดสอบความสำคัญของความเกี่ยวพันกันระหว่างคะแนนที่ทดสอบหรือที่เรียกว่าเครื่องชี้ (Predictor) กับผลงานหรือที่เรียกว่าใน “เกณฑ์” (Criterion) การพิสูจน์ความสัมพันธ์ในขั้นแรกต้องมีการนำมาพิจารณาเทียบกันระหว่างคะแนนที่ทดสอบได้และผลงานโดยวิธีการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ (Correlation Analysis) และหาความสัมพันธ์ สัมพัทธ์ซึ่งย่อมจะชี้ให้เห็นถึงขนาดของความสัมพันธ์ให้ปรากฏออกมา