การร่วมมือประสานงานในการบริหาร

7. การร่วมมือประสานงาน (Coordination) การบริหารงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย  การประสานงานนับว่าเป็นหลักและมีความสำคัญอยู่มาก  รวมทั้งเป็นสิ่งที่ผู้นำในการบริหารจะต้องพยายามหามรรควิธีที่จะสร้างให้เกิดการประสานงานขึ้น และขณะเดียวกันก็จะต้องขจัดปัดเป่าบรรเทาข้อขัดแย้งให้ลดน้อยลงหรือหมดสิ้นไปด้วย  เป็นความจริงที่ว่าการประสานงานมิใช่เป็นหลักการสำคัญแต่เพียงประการเดียวในการบริหารงานบุคคล แต่ก็เป็นหลักสำคัญประการหนึ่งที่จะขาดเสียมิได้  ความสำคัญของการประสานงานจะประจักษณ์ชัดเจนยิ่งขึ้น  ถ้าจะให้พิจารณาถึงลักษณะพื้นฐานของการจัดการ  ซึ่งถ้าจะกล่าวอย่างกว้าง ๆ ก็คือ  การที่คณะบุคคลมาร่วมกันประกอบกิจการใดกิจการหนึ่ง  โดยเฉพาะเจาะจงมากเกินไป  คนในหน่วยงานนั้นก็จะมีจำนวนมาก ซึ่งอาจทำให้งานเสร็จรวดเร็ว  แต่ในอีกด้านหนึ่งงานหน่วนอื่น ๆ จะขาดกำลังคนและทำให้งานล่าช้าไม่ประสานสอดคล้องกัน  อันจะทำให้เกิดปัญหาในการผลิตขึ้นได้  โดยเฉพาะถ้าเป็นการผลิตสินค้าที่ต้องนำชิ้นส่วนต่าง ๆ มาประกอบกัน  หากขาดการประสานงานก็จะเกิดอุปสรรคได้มากมายอย่างแน่นอน

สำหรับองค์การขนาดใหญ่  ที่มีการจัดองค์การแบ่งงานกันทำเป็นส่วนเป็นสัดตามลักษณะเฉพาะของงาน (Specialization) ก็จะเห็นเด่นชัดยิ่งขึ้นว่า การที่จะให้งานขององค์การดำเนินไปด้วยดี บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้  จะต้องพยายามจัดให้เกิดพลังร่วมของกลุ่ม (Group effort) ในการดำเนินงานให้มีลักษณะสมานฉันท์ (Harmony) โดยให้งานแต่ละส่วนสอดคล้องต้องกัน (Synchonize) และเสร็จในเวลา (Time)กำหนดไว้  ซึ่งในองค์การขนาดใหญ่เช่นนี้  ถ้าแต่ละหน่วยงานต่างทำงานของตนไปโดยไม่คำนึงถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง  ไม่จัดให้มีการประสานงานที่ดี  ก็ไม่มีวันที่งานขององค์การนั้นจะบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ดังนั้น  การประสานงานจึงทำหน้าที่เสมือนตัวกลางนำฟันเฟืองของบรรดากิจกรรมทั้งหลาย  ให้สอดลงร่องต้องกันและกัน  เพื่อให้งานดำเนินไปด้วยความกลมกลืน  ราบรื่นและเรียบร้อย