ระบบราชการที่มีผลต่อการบริหารงานบุคคล

4.  ระบบราชการ (Bureaucracy)

การศึกษาเกี่ยวกับการจัดองค์การบริหารงานส่วนบุคคล  จะมีความเข้าใจถ่องแท้ยิ่งขึ้น  หากจะได้ศึกษาพิจารณาเกี่นวกับระบบราชการ ( Bureaucracy ) เพราะระบบราชการนั้นมีอยู่ทั้งในองค์การรัฐบาล และธุรกิจเอกชน  และมีผลต่อการบริหารงานบุคคลอยู่เป็นอันมาก  ดังนั้นจึงขอนำเรื่องระบบราชการมาเสนอโดยสังเขปดังนี้

คำว่า Bureaucracy นี้  อาจแยกพิจารณาได้เป็น 2 คำ  คือ Bureau เป็นภาษาฝรั่งเศสแปลว่า กระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานของรัฐบาล หรือสำนักงานและหน่วยงานก็ได้  ส่วนคำว่า Cracy มาจากรากศัพท์ภาษากรีกของคำว่า Kratia หรือ Kratein แปลว่าการปกครองหรืออำนาจ ดังนั้นเมื่อนำคำทั้งสองมารวมกันจึงอาจแปลได้ว่า หมายถึงการปกครองแบบสำนักงานหรือระบบสำนักงาน  อย่างไรก็ดี  ความหมายที่ใช้กันทั่วไปมักหมายถึงการทำงานที่ชักช้าเสียเวลา (red-tape)  และเหตุการณ์เช่นนี้มักจะเกิดแก่ในวงการรัฐบาลมากกว่าธุรกิจเอกชน  แม้ว่าตามข้อเท็จจริงแล้ว Bureaucracy มีอยู่ทั้งในวงการรัฐบาลมากกว่าธุรกิจเอกชน  แต่ความโน้มเอียงมีมากในวงราชการ  จนกระทั่งเรียกบรรดาข้ารัฐการว่า พวก Bureaucrat ซึ่งหมายถึงพวกแก่ระเบียบ  หรือพวกทำงานยืดยาดชักช้าานั่นเอง  โดยนัยนี้ผู้เขียนจึงของแปลคำว่า “Bureaucracy” ว่า “ระบบราชการ”

ระบบราชการมีอยู่ทุกองค์การ  ระบบราชการมีมานานนับแต่ประมาณ 3,500 ปี มาแล้ว อียิปต์ในอาณาจักรลุ่มแม่น้ำไนล์ก็ปรากฎว่ามีการบริหาร  ซึ่งมีลักษณะเป็นระบบราชการ  ในประเทศจีนการใช้ระบบราชการโดยเฉพาะในด้านการเลือกสรรบุคคลเข้าทำงานได้รับการส่งเสริมอย่างกว้างขวางในสมัยราชวงศ์ฮั่นปกครองประเทศ  ในศตวรรษที่ 11  คือรัชกาลของพระเจ้า ซู ทังโป (Su Tungpo) เป็นสมัยที่ระบบราชการของจีนได้แพร่หลายงอกงามที่สุด  และได้สร้างแบบแผนในด้านการบริหารงานบุคคลให้แก่การบริหารราชการของจีนเป็นอันมาก

สำหรับระบบราชการสมัยใหม่ (Modern bureaucracy) เริ่มราวศตวรรษที่ 17 นับว่าได้เริ่มในวงการราชการทหารก่อน  แล้วจึงแผ่ขยายไปในวงการบริหารของข้าราชการพลเรือน  การเริ่มใช้ระบบราชการของประเทศในยุโรปนั้นน่าจะถือว่าเริ่มในศตวรรษที่ 18  ที่ประเทศฝรั่งเศส  โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  และต่อมาได้แพร่หลายไปในประเทศเยอรมนี ในศตวรรษที่ 19  โดยเฉพาะจากข้อเสนอของ Max Weber นักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน (ค.ศ.1864-1930)  ได้กระตุ้นความสนใจให้ศึกษาระบบราชการมากขึ้น

ประเทศไทยนับตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา  ไม่ว่าจะมีการปกครองระบอบบิดากับบุตร ระบอบเทวสิทธิ์ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช หรือประชาธิปไตยในรูปแบบเช่นปัจจุบันนี้ก็ตาม  ระบบราชการก็มีอยู่ตลอดมา  ดังนั้น  จึงกล่าวได้ว่าระบบราชการมีอยู่คู่กับการบริหารราชการไทยมาช้านานแล้ว