ความสำคัญของการจ่ายผลตอบแทนในรูปที่เป็นเงิน

นับว่าเป็นเวลานานทีเดียวที่นายจ้างได้มีการทดลองคิดค้นเกี่ยวกับระบบต่าง ๆ จัดทำเป็นแผนงานประเภทต่าง ๆ ที่กี่ยวข้องกับการจ่ายค่าจ้างเงินเดือน ทั้งนี้เพื่อที่จะให้มีระบบการจ่ายที่มีประสิทธิภาพให้สมดุลกับงานที่พนักงานได้ทำให้ ซึ่งการพยายามคิดค้นวิธีการที่จะให้มีการวัดค่างานที่พนักงานได้อุทิศให้โดยมีความยุติธรรมที่จะสามารถวัดได้ชัดแจ้งเป็นตัวเลขขึ้นนี้ ในปัจจุบันนับว่าได้มีวิธีการที่ได้มีการปรับปรุงดีขึ้น แต่ก็ยังคงมีปัญหาอยู่บ้างที่การจัดทำยังคงต้องมีการใช้ดุลยพินิจประกอบด้วยเสมอ ซึ่งมักจะทำให้ต้องมีการผิดเพี้ยนไปบ้าง และก็ยังคงไม่สามารถกำหนดได้ถูกต้องแน่นอนทั้งหมด ซึ่งอิทธิพลต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการผิดเพี้ยนไปหรือทำให้โต้แย้งได้นั้น สาเหตุสืบเนื่องมาจากการสงสัยและซักไซร้ไล่เลียงโดยพนักงานหรือตัวแทนพนักงานที่เกี่ยวข้อง และบางครั้งแม้จะมีการคิดออกมาเป็นหลักเกณฑ์ก็ตาม ก็ยังคงได้รับอิทธิพลกระทบมาจากวิธีการจ่ายต่อพนักงานในที่แห่งอื่น

จากตลาดแรงงาน โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มที่มีความชำนาญเฉพาะอย่าง หรือบางกรณีอาจเกิดจากการต้องมีการปรับเข้าหาข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ในการพยายามลดต้นทุนค่าแรงงาน เพื่อที่จะให้มีข้อได้เปรียบในเชิงแข่งขันกับบริษัทอื่นดังที่จะเห็นได้ไม่ยากนักในเร็ว ๆ นี้ ที่แม้จะได้มีการพยายามตีค่างาน หรือการจ่ายผลตอบแทนให้เหมาะสมกับงานที่ได้ทำในแต่ละหน่วยงานนั้น เมื่อกระทำจริง ๆ กลับต้องถูกอิทธิพลกดดันจากการบังคับด้วยตัวแทนของสหภาพของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ที่มุ่งเพื่อจะให้พนักงานทุกแห่งที่อยู่ในความหมายของรัฐวิสาหกิจ ให้ได้รับเงินเดือนเป็นแบบเดียวกันและเท่ากัน ทำนองเดียวกันกับระบบค่าจ้างเงินเดือนของข้าราชการพลเรือน ซึ่งด้วยข้อจำกัดของระบบภาษีอากร และความไม่พร้อมในกลไกของจุดต่าง ๆ ในระบบใหญ่ ซึ่งทำให้ไม่สามารถไล่เบี้ยเอาผลงานที่จะวัดให้ชัดแจ้งได้ การจ่ายโดยทั่วไปของกลุ่มข้าราชการพลเรือนก็ตํ่ากว่าเหตุผลอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทั้งนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า ระบบการจ่ายค่าจ้างเงินเดือนนั้นยังคงมีขอบเขตของปัญหาของสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นอิทธิพลกระทบได้ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ได้มีการคิดค้นหลักเกณฑ์และวิธีที่จะคิดคำนวณให้เหมาะสมกับคุณค่าของงานที่ได้รับและได้พยายามแก้ไขจุดต่าง ๆ ให้มีความเป็นธรรมยิ่งขึ้น โดยมีการพิจารณาและอิงจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องโดยตรงแล้วก็ตาม ปัญหาก็ยังคงไม่หมดไป ดังนั้นจึงเป็นปัญหาสำคัญยิ่งที่ฝ่าย จัดการในทุกแห่งจะต้องมุ่งสร้างให้มีระบบการจ่ายค่าจ้างเงินเดือนที่มีคุณภาพเป็นหลักสำคัญเอาไว้

ความสำคัญของการจ่ายตอบแทนที่เป็นตัวเงินนั้นอาจจะสรุปได้เป็นด้าน ต่างๆ ดังนี้คือ

1. ความสำคัญที่มีต่อพนักงาน นับว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ค่าจ้างที่พนักงานแต่ละคนได้รับเป็นการตอบแทนสำหรับงานที่ทำให้นั้น มิใช่เพียงแต่อยู่ในกรอบของการจ่ายที่ยุติธรรมเท่านั้น หากแต่ความสำคัญยังอยู่ที่การต้องรู้จักสื่อความได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อที่จะให้พนักงานได้รู้เห็นและเข้าใจอย่างถูกต้องว่า เขาได้รับการจ่ายค่าจ้างที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง ตามหลักของการจ่ายค่าจ้าง ที่ยุติธรรมหรือทฤษฎีการจ่ายที่เป็นธรรม (Theory of Equity) นั้น พนักงานส่วนมากมักจะประสงค์ที่จะได้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในแง่หนึ่ง คือระหว่างผลงานที่ทำออกมาได้จนเป็นผลสำเร็จ ปรากฏออกมา (ซึ่งเกิดจากการได้ใช้ความชำนาญตลอดจนความพยายามต่าง ๆที่ได้อุทิศให้) ว่าควรจะเท่ากับผลลัพธ์ที่ได้รับมานั่นคือตัวเงินที่เขาได้รับมาจากการทำงานดังกล่าวในรูปของการจ่ายและรางวัลอื่น ๆ ที่นายจ้างได้มอบให้ ความมุ่งพยายามที่จะต้องทำให้ถูกต้องเพราะเหตุที่การจ่ายค่าจ้างมีความสำคัญต่อคนงานดังกล่าวนั้น ในแง่ของนายจ้างจึงต้องเข้าใจในเรื่อง 2 ประการ คือ

ก. จะต้องสามารถลดความไม่สบายใจที่มีการเข้าใจผิดในเรื่องต่าง ๆ ให้

หมดไป (Cognitive Dissonance) กล่าวคือ ถ้าหากสิ่งที่ได้จ่ายให้นั้นไม่สอดคล้องตรงตามที่พนักงานคิดว่าควรจะได้แล้ว พนักงานส่วนใหญ่มักจะมีความรู้สึกคั่งค้างอยู่ในใจตลอดเวลาว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งนักจิตวิทยาได้อธิบายความรู้สึกนี้ว่า Cognitive Disso­nance ในกรณีเช่นนี้ ถ้าพนักงานเชื่อว่าตนเองได้ทำงานให้กับองค์การมากกว่ารายได้ที่ได้รับหรือเข้าใจว่าตนเองมีคุณสมบัติสูงกว่าพนักงานอื่น ๆ ซึ่งได้รับค่าจ้างในระดับเดียวกันแล้วเมื่อใด พนักงานก็จะเกิดความแปรปรวนในความรู้สึกทางจิตใจและจะทำการลดขนาดความพยายาม หรือการทุ่มเทให้น้อยลง ในบางครั้งยังไปไกลถึงการพยายามลดผลผลิตด้วยการแกล้งขาดงาน หรือพยายามทำงานให้ได้ผลงานที่ต่ำกว่าเดิมหรือเลวกว่าเดิม หรือให้ความร่วมมือต่อส่วนรวมน้อยลง ตลอดจนไม่คิดริเริ่มที่จะเริ่มสร้างสรรให้ หรือในอีกทางหนึ่งก็อาจจะยังคงพยายามเพิ่ม ผลผลิตจากการทำงาน แต่ก็จะพยายามหาทางเรียกร้องค่าจ้างที่สูงขึ้น ซึ่งเรื่องนี้จะแก้ไขได้ก็ต่อเมื่อธุรกิจจะต้องพยายามกำหนดค่าของงานออกมาให้ชัดแจ้งอย่างมีระบบ และจะต้องมีการวัดผลการปฏิบัติงานของแต่ละคน ตลอดจนทำความเข้าใจให้พนักงานได้รู้ว่า มีวิธีการกำหนดอย่างไร ในกรณีเช่นนี้พนักงานก็อาจจะเข้าใจได้อย่างถูกต้องว่าตนเองมิได้เป็นเหยื่อของความไม่เป็นธรรมดังกล่าว

ลักษณะอุปนิสัยส่วนตัวของบุคคลมักจะมีผลกระทบต่อความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องความเป็นธรรมหรือความยุติธรรมด้วยเสมอ จากการศึกษาได้มีตัวอย่างปรากฏว่า พนักงานที่ทำผลผลิตได้สูง แต่มีการศึกษาน้อยและได้รับเงินเดือนมาก และมีอายุมากกว่า มักจะมีความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องของความไม่เป็นธรรมของการจ่ายน้อยกว่าคนอื่น นอกจากนี้บุคคลเหล่านี้ยังมีความรู้สึก ที่มากกว่าคนอื่น ๆ ในกรณีต่อไปนี้ด้วย คือ คนดังกล่าวจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับองค์การว่าที่ทำไปนั้นมีความถูกต้องแล้ว และยอมรับได้ง่ายว่า มาตรฐานต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้น ตลอดจนการขึ้นเงินเดือนที่ใช้อยู่นั้นนับว่าใช้ได้

ข. การรู้จักสื่อความการต้ดสินใจเกี่ยวกับเงินเดือนอย่างมีประสิทธิภาพ

เพื่อที่จะให้พนักงานยอมรับว่าเขาได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมจากการจ่ายค่าจ้างเงินเดือนให้ สิ่งที่ต้องทำอย่างหนึ่งก็คือ การต้องรู้จักวิธีการสื่อความได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบการสื่อความที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้พนักงานได้เข้าใจง่ายขึ้นและแจ่มแจ้งขึ้น และถ้าหากมีปัญหา หรือข้อบกพร่องอื่นใด ก็จะมีโอกาสไดัรับทราบถึงความคิดเห็นต่าง ๆ ทั้งในแง่ที่เกี่ยวข้อง กับการจ่ายเป็นเงินเดือนและการจ่ายรางวัลผลตอบแทนอื่นที่ไม่เป็นเงินด้วยพร้อมกัน ตลอดจนการทำความเข้าใจในแง่ของผลประโยชน์ที่เขาพึงจะได้รับทั้งหมดตามทัศนะของคนงานเทียบกับ สิ่งที่พนักงานได้อุทิศและทำให้ตามความเข้าใจของเขาว่าเขาได้ให้มากน้อยเพียงใด ความเห็นของพนักงานเหล่านี้นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปรับปรุงให้ระบบการจ่ายตอบแทนนี้ คุณค่าและถูกต้องอยู่ตลอดเวลา

2. ความสำคัญที่มีต่อนายจ้าง

ในองค์การส่วนมากค่าจ้างมักจะเป็นต้นทุนรายการสำคัญที่สุดของการดำเนินงาน โดยเฉพาะในธุรกิจหรือหน่วยงานที่ไม่สามารถที่จะใช้สิ่งอื่นมาทดแทนแรงงานได้ กล่าวคือในธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานมาก ๆ เช่น ในอุตสาหกรรมทอผ้า อุตสาหกรรมต่อเรือ ตลอดจนการสร้างรถยนต์ ซึ่งค่าจ้างแรงงานมักจะมีต้นทุนถึง 40% ของต้นทุนทั้งหมด ดังนี้การขึ้นของเงินเดือนค่าจ้างจึงมักมีผลกระทบ ต่อต้นทุนการผลิตมากกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ซึ่งมีการใช้แรงงานน้อยกว่า ดังนั้นจึงควรที่จะได้เข้าใจ ถึงลักษณะที่เกี่ยวกับแรงงานว่าเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ซึ่งความไม่แน่นอนนี้มิใช่เฉพาะการเปลี่ยนแปลงในจำนวนเงินที่จ่ายเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงสิ่งที่สัมพันธ์กัน คือผลผลิตที่จะได้รับจากพนักงานด้วย นั่นคือ ถึงแม้ว่าจะได้มีการจ่ายแรงงานให้กับพนักงานในอัตราที่สูงสุด หรือสูงมากแล้วก็ตาม ก็จะยังไม่เป็นการแน่นอนเสมอไปว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี กล่าวคือ ถ้าหากผลผลิตได้ผลออกมาสูงมาก ต้นทุนก็ควรจะตํ่าลงหรือถูกที่สุดด้วยก็ได้หรือในทางกลับกันการที่จ่ายค่าจ้างให้กับพนักงานได้ตํ่าที่สุดก็อาจจะกลายเป็นต้นทุนแรงงานที่สูงที่สุด เพราะเหตุอันเนื่องมาจากผลงานตํ่ามากกว่าก็เป็นได้ การที่คนงานจะอุทิศทำงานตอบแทนให้คุ้มค่ากับค่าจ้างเพียงใดนั้น ส่วนมากมักจะขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของระบบการจ่ายค่าจ้างเงินเดือน ที่จะมีส่วนช่วยเป็นกลไกในการกระตุ้นให้เขาเหล่านั้นอุทิศกำลังกายกำลังแรงงาน กำลังความคิด ได้มากน้อยเพียงใด ทำนองเดียวกันกับงานด้านอื่นของการบริหารบุคคลด้วย

นอกจากนี้การสามารถมีอัตราการจ่ายตอบแทนที่สูงเด่นกว่าคนอื่น ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชุมชนนั้น ๆ เช่นกัน ทั้งนี้เพราะการจ่ายอย่างพอเพียงย่อมจะเป็นการช่วยให้เกิดความมั่นคงและมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่มีมาตรฐานการครองชีพที่ดีอีกด้วย ระดับค่าจ้างที่สูงนั้นมักจะให้ผลในทางอ้อมที่จะทำให้รายได้ของรัฐที่ได้จากการจัดเก็บภาษี สามารถเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยและเอื้ออำนวย ให้สวัสดิการของสังคมในด้านต่าง ๆ ตลอดจนสถานภาพความเป็นอยู่ของสังคมโดยทั่วไป ทั้งในแง่สุขภาพอนามัยและการศึกษาดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมให้มีอำนาจซื้อที่จะกระตุ้นให้เกิดความสมบูรณ์และเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและชุมชนโดยส่วนร่วมบ่อยครั้งที่แม้สภาพเศรษฐกิจจะตกตํ่ามาก การแก้ไขอย่างถูกต้องด้วยการจ่ายตอบแทนที่มากกว่า อาจจะมีส่วนในการแก้ไขปัญหา โดยช่วยกระตุ้นให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ในจุดที่ต้องการได้ ดังนั้นการกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นตํ่าที่แตกต่าง โดยให้ในท้องถิ่นห่างไกลในภูมิภาคมีอัตราตํ่ากว่าในนครหลวง จึงมิใช่วิธีที่ถูกต้องในหลักเหตุผล ฉันใดก็ฉันนั้น มักจะปรากฏอยู่เสมอว่าท้องถิ่นใดที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำ หรือมีการลดบัญชีการจ่ายเงินเดือนมาก ๆ นั้น มักจะส่งผลในทางไม่ดีที่ทำให้คนทั่วไปยากจนลงและขาดเงินทองที่จะจับจ่ายใช้สอยเพื่อ จะดำรงชีพให้อยู่ในฐานะที่ดีตามสมควร และมักจะเป็นผลพลอยทำให้บริการทางสังคมในชุมชนนั้น ขาดปัจจัยสนับสนุน ดังนั้นการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยรัฐบาลเองหรือนโยบายทางการเมือง จึงมักจะมีผลโดยตรงต่อระดับการจ้างงานท้องถิ่นและต่อปริมาณเงินเดือนที่จ่าย และมักจะส่งผลทำให้เกิด ปฏิกิริยากระทบต่อบุคคลต่าง ๆ