ประเภทของการศึกษาทดลองการจัดการตามแนวมนุษยสัมพันธ์

การศึกษาทดลอง ได้แบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

1.  การศึกษาทดลองในห้องปฏิบัติงาน   ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับ การให้แสงสว่าง (lllumination experiments) การทดลองนี้กระทำระหว่างปี ค.ศ. 1924-1927  โดยเฉพาะได้ทำการทดลองในระหว่างฤดูหนาวถึง 3 ฤดูด้วยกัน  การทดลองนี้ ต้องการหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับท่าทีของคนงานในการทำงานในที่ที่มีแสงสว่างต่างกัน  ว่าจะมีผลกระทบต่อปริมาณการผลิตอย่างไร

นอกจากนี้ได้ทำการศึกษาทดลองเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพการทำงาน การทดลองนี้เรียกว่า The Relay Assembly Test Room  ซึ่งทำการทดลองระหว่างปี ค.ศ. 1927-1932 โดยครั้งแรกใช้พนักงานหญิงรวม 5 คน  กรรมวิธีในการทดลองขั้นต่อไปใช้คนงานจำนวน 2,000 คน  ได้เปลี่ยนแปลงการทดลองนี้หลายวิธี  เช่น  ปรับสภาพความชื้นของอุณหภูมิในห้องให้มีสภาพต่าง ๆ กัน  จัดให้ทำงานและหยุดงานเป็นระยะ ๆ เปลี่ยนแปลงการทำงานไม่ให้ทำซ้ำ ๆ ซาก ๆ  ในงานอย่างเดียวกันนาน ๆ  เพิ่มค่าจ้างแรงงานเป็นเครื่องจูงใจ  เปลี่ยนแปลงวิธีในการควบคุมงาน

ผลจากการทดลองปรากฎว่าสภาพการทำงานก็ดี แสงสว่างก็ดี ระยะเวลาพักผ่อนระหว่างการทำงานก็ดี ระเบียบการจ่ายเงินค่าจ้างก็ดี  ตลอดจนวิธีการในการควบคุมงานก็ดี  มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงในการทำงานไม่มากนัก  การศึกษาทดลองครั้งนี้ได้ให้ความคิดใหม่ ๆ ในเรื่องความสามารถในการรับรู้  การแปลความหมาย และท่าทีในการทำงานของคนงานได้ดีและมีประสบการณ์ในด้านนี้มากขึ้น

2.  การศึกษาทดลองโดยการสัมภาษณ์  ได้ทำการทดลอง เพื่อค้นหาความเปลี่ยนแปลงในการทำงานเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม  โดยอาศัยเทคนิคการสัมภาษณ์  การทดลองนี้ได้สัมภาษณ์คนงานในโรงงานรวม 2,000 คน  แต่การทดลองนี้ไม่สู้จะอำนวยผลที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ตามสมมติฐานที่ตั้งไว้เท่าใดนัก  ผลจากการทดลองนี้มีผลทำให้กิจการอุตสาหกรรมและโรงงานหลายแห่ง  แม้ในปัจจุบันได้จัดโครงการที่ปรึกษาพนักงานเจ้าหน้าที่ (Employee Counseling Program) ขึ้น

3.  การศึกษาทดลองโดยการสังเกตการณ์  การทดลองประเภทนี้ อาศัยเทคนิคในการสังเกตการทำงานของคนงานและปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการทำงานของคนงาน  การทดลองนี้ปรากฎว่าได้ให้ความรู้ในเรื่องระบบสังคม (Social system) หลายประการ