วิวัฒนาการของการจัดการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคล

วิวัฒนาการของการจัดการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลมีดังนี้:

1.  การจัดการแบบวิทยาศาสตร์ (Scientific Management)  การจัดการแบบวิทยาศาสตร์ หรือ Scientific Management นี้ บางทีก็เรียกว่า “Efficiency Engineering” “Rationalism” “Taylorism” หรือ “The Science of Management” ก็มี  แต่คำว่า “Scientific Management”  เป็นคำที่ใช้กันบ่อยและได้รับความนิยมมากที่สุด  การจัดการแบบวิทยาศาสตร์ หมายถึง การจัดการงานให้มีระบบโดยศึกษาหาเหตุผล (Cause and effect) เพื่อหาวิธีการที่ดีที่สุด (One best way) จากการทำงานนั้น  วิธีการสำคัญขั้นมูลฐานของการจัดการแบบวิทยาศาสตร์  ก็คือ 

1.  พัฒนาหลักการทำงานให้ดีขึ้น (Develop principles of work)

2.  วางมาตรฐานในการทำงาน (Standard of work)

3.  ควบคุมการทำงาน (Control work)

วิวัฒนาการของการจัดการแบบวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาที่นับว่ามีชื่อเสียงแพร่หลายมากที่สุด  น่าจะถือได้ว่ามีจุดเริ่มต้นเมื่อ Henry R. Towne  ได้เสนอบทความทางวิชาการเรื่อง “The Engineer as an Economist”  ต่อสมาคมวิศวกรเครื่องยนต์อเมริกา (The American Society of Mechanical Engineers) ในปี ค.ศ. 1886  ซึ่ง Towne ได้เสนอแนวความคิดว่า  การจัดการงานที่ได้ปฏิบัติอาศัยหลักควบคุมทางวินัยควรจะได้แยกออกจากหน้าที่การงานทางวิศวกรรม Towne ได้เน้นถึงความสำคัญของการจัดการว่ามีเท่ากับความสำคัญของงานวิศวกรรม  เพราะขณะนั้นการจัดการเกี่ยวกับการทำงานของคนงาน  มิได้รวบรวมจัดระบบให้เป็นระเบียบ  มีหลักการหรือกฎเกณฑ์แต่อย่างไร  แนวความคิดของ Towne นี้ได้รับการสานต่อโดยศึกษาเกี่ยวกับระบบและวิธีจัดการให้ละเอียดยิ่งขึ้นโดยวิศวกรหนุ่มชาวอเมริกัน ชื่อ Frederick Winslow Taylor ซึ่งได้ร่วมกับ ASME ในปี ค.ศ.1885  เทเล่อร์ มีความสนใจในการที่จะประสานการปฏิบัติงานระหว่างคนงานกับฝ่ายจัดการ  โดยอาศัยวิธีการจัดการเป็นเครื่องมือ ปรากฎว่าเทเล่อร์ได้ประสบความสำเร็จในการเสนอวิธีการจัดการตามแบบวิทยาศาสตร์  โดยเฉพาะจากหนังสือชื่อ The Principles of Scientific Management  ซึ่งได้ปรับปรุงจากต้นฉบับการปาฐกถา ณ ASME.ในปี 1903 จน Frederick W. Taylor ได้รับสมญานามว่า “บิดาของการจัดการแบบวิทยาศาสตร์ “ (Father of Scientific Management)