อุปสรรคต่อประสิทธิภาพของการฟัง

ในสังคมปัจจุบัน มีเครื่องกีดขวางที่เป็นอุปสรรคสำหรับการฟังอยู่ เป็นจำนวนมาก เครื่องกีดขวางบางประเภทก็ปรากฎชัดเจน บางประเภทก็สลับซับซ้อน ถ้าท่านไม่รู้ว่าเครื่องกีดขวางเหล่านี้มีอยู่ ท่านย่อมไม่มีโอกาส มากนักที่จะจัดการและเอาชนะมันได้ถ้าจะต้องการเป็นนักฟังที่ดีขึ้น เราหวัง ว่าเนื้อหาในภาคนี้จะทำให้ท่านตระหนักชัดเจนในอุปสรรคต่อประสิทธิภาพ ของการฟัง ในด้านการศึกษา ด้านพฤติกรรม ด้านจิตวิทยา และด้านร่างกาย ด้วยความเข้าใจแนวใหม่นี้ ท่านจะเตรียมตนได้พร้อมยิ่งขึ้นที่จะเผชิญและเอาชนะอุปสรรคเหล่านั้นได้

แรงจูงใจและทัศนคติ แรงจูงใจและทัศนคติอาจเป็นเครื่องยับยั้งการฟังมิให้มีประสิทธิภาพได้ มนุษย์เราย่อมได้ยินสิ่งที่เราต้องการได้ยิน และเราย่อมไม่ได้ยินสิ่งที่เราไม่ต้องการได้ยิน เมื่อท่านเข้าไปในสภาพแวดล้อมที่ต้องฟังโดยปราศจากทัศนคติและแรงจูงใจ ย่อมไม่มีวิถีทางใดที่จะทำให้ท่านได้ยิน ได้ฟัง หรือเกิดความเข้าใจสิ่งที่บุคคลอื่นกำลังสื่อสารให้ทราบ ท่านน่าจะได้อยู่บ้านเสียยังดีกว่า ถ้าท่านไม่ฟังบุคคลอื่น ก็จงไปเสียที่อื่นดีกว่าที่จะมีทีท่าเพิกเฉยและดูหมิ่นผู้พูด

การขาดสมาธิและความตั้งใจ  มีคนจำนวนมากที่เป็นผู้ฟังที่ไร้ประสิทธิภาพด้วยเหตุเพราะขาดสมาธิและความตั้งใจ มีคนจำนวนหนึ่งที่มักจะมีความตั้งใจได้ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ และพบว่าเป็นการยากมาก ที่จะมีสมาธิในกิจกรรมภายนอกเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ยังมีบางคนที่มีสมาธิที่อ่อนมาก ทั้งนี้ด้วยเหตุที่ยอมให้ตนเองหลงอยู่ใต้อำนาจของอิทธิพลนอก ตัวอย่างเช่น เครื่องกีดขวางยับยั้งการมีสมาธิและความตั้งใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่ง ก็คือ การสันนิษฐานที่ผิด ๆ ที่ว่าท่านสามารถทำอะไร ๒ อย่างในเวลาเดียวกันได้ ตัวอย่างชั้นเลิศก็คือ การที่มีความเชื่อว่าคนเราสามารถอ่านและฟังผู้อื่นพูดทั้งสองอย่างในขณะเดียวกันได้ และไม่มีอะไรที่อยู่เหนือความจริง การที่จะตั้งสมาธิอย่างเต็มที่ในเรื่องที่ท่านกำลังอ่านได้นั้น ท่านไม่สามารถจะฟังคนอื่นพูดได้ และการที่ท่านจะฟังผู้อื่นได้อย่างเต็มที่ ท่านจะต้องตั้งอยู่ในสมาธิและตั้งใจฟังผู้พูด มิใช่สนใจในเอกสารที่อ่านอย่างดีที่สุดที่ท่านสามารถตั้งความหวังได้จากการปฏิบัติ ๒ สิ่งในขณะเดียวกัน คือ การแบ่งความสนใจ ให้มีเท่า ๆ กันระหว่างทั้งสองสิ่ง แต่ทั้งการฟังหรือการอ่านย่อมไม่สำเร็จเต็มที่ ไม่เหมาะสม และไม่มีประสิทธิภาพได้ เครื่องยับยั้งที่ใหญ่ยิ่งอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นสาเหตุให้ขาดสมาธิและขาดความตั้งใจในการฟังได้แก่สิ่งล่อใจภายนอก เป็นต้นว่า เสียงรบกวนจากภายนอก การเคลื่อนไหวของผู้คน การสนทนาในที่ข้างเคียงและเสียงโทรศัพท์ทั้งหมดเหล่านี้ ย่อมสามารถล่อใจให้ผู้ฟังผละจากการสนทนาได้ เป็นการไม่ง่ายนักที่จะม่ายเมิน ต่อสิ่งยั่วยุจากภายนอกได้ แต่เป็นไปได้จากการปฏิบัติถ้าท่านได้รับแรงจูงใจ ให้ฟังคนอื่น ท่านสามารถเอาชนะตนเอง มีสมาธิเพิ่มขึ้น และม่ายเมินต่อสิ่งล่อใจต่าง ๆ เหล่านั้นได้

ทัศนคติทางลบต่อการฟัง  คนจำนวนมากเข้าใจว่า การฟังคือการยอมตามโดยดุษณี ทัศนคติเช่นนี้กลายเป็นอุปสรรคที่ยืดเยื้อถาวรของการฟังตามความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ โรงเรียนของเราโดยทั่วไปผลิตนักพูดที่ดี ๆ แต่เป็นนักฟังที่เลวมาก จากวัยเด็กตอนต้นเรื่อยไปในสังคมของเราเราจะพูดให้กำลังใจโดยเน้นไปที่การพูด และการคุยซึ่งตรงกันข้ามกับการฟัง เมื่อเราโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น เราก็มองผิดไปว่าการฟังคือ การยอมตามโดยดุษณี – เป็นบางสิ่งที่ผู้อื่นต้องทำแต่ไม่ใช่ตัวเรา เราเชื่อว่าการพูดคือพลัง- เราเชื่อว่าเมื่อเรามีเวทีที่จะพูด เรากำลังมีอำนาจอยู่ในมือ ถ้าพูดกันจริง ๆ แล้ว เรื่องนี้ก็ไม่ไกลจากความจริงมากนัก เมื่อคน ๒ คน ต่างฝ่ายต่างแข่งกันที่จะได้รับความสนใจ อำนาจ และได้ “เวที” ต่างฝ่ายไม่เพียงแต่จะไม่ฟังกันเท่านั้น ยังต่างก็สร้างความโกรธแค้นให้แก่กันและกัน ผลสุดท้าย กลายเป็นความเครียดที่เพิ่มขึ้น ความไว้วางใจกลับลดลง ผลผลิตลดลงตามลำดับ ที่จริงแล้วมี “อำนาจ” จริง ๆ ในการฟัง เมื่อท่านฟังผู้อื่น – และฟังเขาจริง ๆ – เขาเหล่านั้นจะบอกท่านถึงวิธีที่ดีขึ้นในการจัดการกับผู้พูด ให้สมกับความต้องการของพวกเขา ผู้พูดเหล่านั้นจะเริ่มมีความรู้สึกดีเกี่ยวกับตัวท่าน เพราะท่านเปิดโอกาสให้เขาพูดและเมื่อถึงเวลาที่ท่านควรพูด เขาจะตั้งใจฟังท่านและฟังสาระที่ท่านต้องการสื่อให้ทราบ ด้วยวิธีนี้ ทั้งสองฝ่ายต่างก็ป็นผู้ชนะ

ประสบการณ์และภูมิหลัง ประสบการณ์และความรู้เดิม มีผลสำคัญยิ่งต่อการเป็นนักฟังที่ดีในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น คนที่มีความรู้น้อย ในคำคัพท์ย่อมจะประสบความยากลำบากในการฟังคนพูดที่ใช้คำศัพท์สูง ๆ ลองคิดดูว่าท่านรู้สึกอย่างไร เวลาท่านฟังใครใช้คำพูดที่ท่านไม่สามารถฟังเข้าใจ บางที่ท่านจะรู้สึกอายที่จะถามผู้พูดให้อธิบายความหมายของคำบางคำเป็นแน่ เพราะเกรงว่าตนจะแสดงความโง่เขลา และถ้าผู้พูดยังคงใช้คำพูดต่าง ๆ ที่ตนไม่สามารถเข้าใจได้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ท่านก็ยิ่งจะเกิดความรู้สึกกดดันมากขึ้นกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่ยอมฟังผู้พูดอีกต่อไป ด้วยการหลอกหาเหตุมาอ้างให้กับตนว่าสิ่งที่ผู้นั้นกำลังพูด ไม่มีอะไรมีค่า ควรแก่การฟัง ปัญหาแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ เมื่อมีปัญหาไม่เข้าใจเรื่องภาษา ทั้งภาษาท้องถิ่นและภาษาแสลง เมื่อใดที่ท่านเกิดปัญหาความไม่เข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นกำลังสื่อสารให้ท่านทราบ ท่านจะมีโอกาสเลือก ๒ ทาง ท่านสามารถถามให้บุคคลผู้พูดอธิบายสิ่งที่เขาได้พูดโดยใช้ภาษาที่ชัดเจนขึ้น หรือท่านอาจจะไม่ฟังบุคคลนั้นต่อไป และที่โชคร้ายก็คือพวกเราจำนวนมาก เลือกปฏิบัติในทางที่สอง ระดับความยากของสาระที่กำลังพูด สามารถสร้างอุปสรรคมิให้การฟังมีประสิทธิภาพได้ ถ้าประสบการณ์และภูมิหลังของผู้ฟังมีพื้นฐานไม่ตรงกับสาระที่ผู้พูดแสดงอยู่ ก็อาจจะเป็นทางให้ผู้ฟังไม่ยอมรับฟังผู้พูดได้เช่นกัน

การจัดสถานที่ฟังไม่เอื้ออำนวย สถานที่ซึ่งท่านเลือกใช้สำหรับการสนทนาและการฟัง สามารถมีผลต่อประสิทธิภาพของการฟังของท่านได้ ถ้าท่านพยายามที่จะฟังอีกฝ่ายหนึ่งใกล้กับแหล่งที่มีสิ่งล่อใจอยู่รอบ ๆ เช่น มีเสียงรบกวนและมีผู้คนเดินผ่านไปมา ท่านจะพบว่า ท่านจะต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อให้เกิดสมาธิและความตั้งใจจริง ทำไมจึงนำตัวให้ไปอยู่ในสถานการณ์ที่ “ล่อใจ” เช่นนี้ ในเมื่อท่านสามารถเลือกสภาพแวดล้อมที่ปราศจากสิ่งล่อใจเหล่านี้ได้ มีนักเขียนคนหนึ่งมีโอกาสสองครั้งในการรับประทานอาหารกลางวันกับเพื่อนนักธุรกิจที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ในขณะที่มีการสนทนากัน เพื่อนนักธุรกิจผู้นั้น มักมีจิตใจวอกแวกอยู่กับบุคคลที่ผ่านไปมา เกือบตลอดเวลา ผลจากการพบปะกันทั้งสองครั้งไม่ได้ประโยชน์อะไรมากนัก และสิ่งที่เจรจากัน ก็ได้รับความคิดที่ผิดไป ท่านยังจะแปลกใจอีกหรือไม่ว่า ทำไมการประชุมปัจจุบันทุกครั้ง จึงเลือกจัดในห้องประชุมซึ่งไม่มีหน้าต่าง ไม่มีเครื่องรับโทรศัพท์ ไม่มีสิ่งล่อใจใด ๆ และผู้เข้าประชุมในปัจจุบันได้ทำงานบรรลุผลสูงกว่าเดิม ๒ เท่า ภายในเวลาเพียง ๑ ใน ๔ ของเวลาที่มีอยู่

อีกประการหนึ่ง นับว่ายากมากสำหรับบุคคลทั่วไปที่จะฟังกันและกัน เมื่อต่างก็นั่งใกล้กันมากเกินไป หรือไกลเกินไปจากผู้พูด การนั่งใกล้ผู้พูดมากเกินไป อาจจะเป็นการล่วงลํ้า “อธิปไตยส่วนตัว” ของผู้ฟัง การนั่งใกลชิดเช่นนี้อาจเป็นเหตุให้ผู้ฟังต้องคิดในเรื่องของความใกลชิดทางร่างกายระหว่างกันและกัน แทนที่จะคิดถึงสาระที่กำลังเจรจากันด้วยการนั่งใกล้มากเกินไปจากผู้พูดอาจทำให้ผู้ฟังฟังตก ๆ หล่น ๆ ในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญ ทั้งที่กล่าวด้วยวาจาและอวาจา เมื่อสถานที่พูดคุยร้อนเกินไป เย็นเกินไป สะดวกเกินไป หรืออึดอัดเกินไป ย่อมก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมการฟังที่เลว ผู้ฟังจะให้ความสนใจและรับรู้ในสภาพแวดล้อมมากกว่ารับรู้ในสาระสำคัญ ที่กำลังสนทนาอยู่

อารมณ์ นักฟังที่ไร้ประสิทธิภาพจำนวนมาก มักชอบจัดประเภท และหรือพิจารณาตัดสินลักษณะของผู้พูดไว้ล่วงหน้าก่อนได้ฟังจริง ๆ ซึ่งทำให้สาระที่รับฟังบิดเบือนห่างไกลจากข้อเท็จจริงไม่ว่าในด้านบวกหรือด้านลบ ตัวอย่างเช่น ผู้ฟังจำนวนมากมักตัดสินคุณภาพและความเชี่อถือได้ของสาระที่ผู้พูดกล่าว โดยยึดเอาสิ่งที่เป็นภาพพจน์ของผู้พูดอย่างเดียว ถ้าผู้พูดมุ่งอยู่ที่ภาพใดภาพหนึ่งโดยเฉพาะ ผู้ฟังอาจจะจัดผู้พูดเป็นเสมือน “หนึ่งในพวกเรา” และมองข้ามสาระบิดเบือนไปในทางบวก ก็ย่อมจะจงใจมองภาพนั้นในทางบวกมากขึ้น ในทางตรงข้าม ถ้าภาพพจน์ของผู้พูดไม่อยู่ในทิศทางเดียวกันกับของผู้ฟัง ผู้ฟังจะพิจารณาผู้พูดเป็น “หนึ่ง ในพวกเขา” และบิดเบือนสาระไกลจากความเป็นจริงในทางลบ ดังนั้น เมื่อเราชอบผู้พูด เราย่อมมองสาระที่เขาพูดในทางที่ดีและหรือในทางที่เห็นอกเห็นใจกัน เมื่อใดที่เราไม่ชอบผู้พูด เราจะทำในสิ่งตรงข้าม

ผลก็คือ การจัดแบ่งประเภทผู้พูดไม่ว่าด้วยลักษณะใดย่อมจะบิดเบือน ข้อสนเทศของผู้พูดที่เป็นภาพความคิดที่บริสุทธิ์และมิได้เจือปนได้ตาม ลักษณะที่สอดคล้องกับประเภทบุคคลที่แบ่งไว้ไม่ว่าจะถูกหรือผิดก็ตาม ถ้าเราจัดผู้พูดอยู่ในประเภทน่าเบื่อหน่าย สิ่งที่เราจะได้ยินจากผู้พูดก็ไม่สามารถจะมองเป็นอื่นได้นอกจากน่าเบื่อหน่าย ถ้าเราจัดประเภทผู้พูดว่า เป็นคนชาญฉลาด เราย่อมจะตื่นเต้นไปกับจังหวะการพูดของเธอผู้นี้

ข้อความเชื่อและค่านิยมของเราขณะนั้น หรือที่มีมาก่อนหน้านั้น ย่อมจะเป็นเครื่องพิจารณาว่าเราจะฟังเนื้อหาสาระได้ตรงประเด็นมากน้อยอย่างไร ถ้าเนื้อหาสาระอยู่ในสายเดียวกันกับสิ่งที่เรามีความเชื่อในขณะนั้น ๆ เราย่อมมีแนวที่จะฟังอย่างตั้งใจมากขึ้นและฟังในลักษณะที่เบา ๆ และชอบ ถ้าเนื้อหาสาระมีลักษณะตรงข้ามกับค่านิยมและความเชื่อปัจจุบันขณะนั้น เรามักจะโต้เถียงและวิพากษ์วิจารณ์สาระนั้นในเชิงปัญหา สิ่งดึงดูดใจจากภายในจิตใจเหล่านี้ สามารถตัดกระบวนการฟังได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นที่ท่านจะต้องตระหนักว่า เมื่อใดที่ท่านเกิดอารมณ์ร่วมเกี่ยวกับเนื้อหาของสาระหรือกับตัวผู้พูด ท่านย่อมจะบิดเบือนข้อมูลอย่างมีระบบ ผลก็คือ ต้องหยุดการสนทนากัน

การฝันกลางวันและการสร้างวิมานในฝัน  นักจิตวิทยาและจิตแพทย์จำนวนมากมองว่า การฝันกลางวันและการสร้างวิมานในฝัน เป็นส่วนที่ทำให้ชีวิตมีสุขภาพจิตดี อย่างไรก็ตาม ถ้าเราไม่สามารถควบคุมตนเองว่าควรกระทำบ่อยครั้งเพียงไรและควรทำเมื่อไรบ้าง ก็อาจเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสภาวะจิตทางอารมณ์ และต่อประสิทธิภาพในการฟัง ปัจจัยหนึ่งที่เป็นเหตุให้เกิดการฝันกลางวันและสร้างวิมานในฝันขณะที่อยู่ในกระบวนการฟัง คือ สาเหตุง่าย ๆ ที่ว่า มนุษย์เรานั้นสามารถคิดได้เร็วเกือบ ๔ เท่า ของความสามารถในการพูด ในการสนทนาระหว่างบุคคลทั่ว ๆ ไปมนุษย์ จะพูดได้ในอัตรา ๑๒๔-๑๕๐ คำต่อนาที อย่างไรก็ตาม จิตใจของมนุษย์ เรานั้นย่อมสามารถทำความเข้าใจได้ ๕๐๐ คำต่อนาที ซึ่งทำให้ผู้ฟัง มีเวลาเหลือ ๓ ถึง ๔ เท่า มากกว่าเวลาที่ต้องการใช้ความคิดเพื่อเกิดความเข้าใจในข้อความ สำหรับ “ช่วงเวลาที่เหลือนี้” นักฟังที่มีทักษะจะใช้เวลาดังกล่าว ให้เป็นประโยชน์สำหรับตนเอง ส่วนสำหรับผู้ฟังที่ขาดประสิทธิภาพ ย่อมเป็นโอกาสที่จะปล่อยจิตใจของตนให้ล่องลอยไปได้เรื่อย ๆ

การรับมอบสาร  ผู้พูดบางคนก็พูดให้เป็นที่รับฟังได้ง่ายกว่าผู้พูดคนอื่น ๆ ผู้พูดที่ใช้เวลาในการจัดเตรียมสาระก่อนพูดย่อมทำให้ผู้ฟังฟังได้ง่ายกว่าผู้พูดที่พูดตามกระแสมโนธรรม ผู้พูดบางคนพูดเร็ว บางคนพูดช้า ผู้ฟังบางคนชอบรับฟังการส่งสารเร็ว ๆ บางคนชอบการส่งสารช้า ๆ หรืออาจพูดได้ว่าผู้ฟังที่แตกต่างกันย่อมรู้สึกสบายใจมากกว่ากับอัตราการให้ข้อมูลที่ต่างระดับกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเกณฑ์การพูดปกติของสภาพแวดล้อมของเขา ตัวอย่างเช่น คนจากโลกซีกตะวันออกเฉียงใต้ เคยชินต่อการฟัง การพูดในอัตร่าช้ากว่าคนจากโลกซีกตะวันออกเฉียงเหนือ อัตราการเบี่ยงเบนจากเกณฑ์ปกติเชิงวัฒนธรรมและภูมิศาสตร์ ย่อมจะต้องสร้างปัญหาการฟัง อย่างไรก็ตามปัญหาเช่นนี้สามารถเอาชนะได้ ถ้าผู้ฟังรู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น และตั้งสมาธิอย่างจริงจังอยู่ที่อัตราการส่งสารและวิถีการรับมอบสาร ซึ่งแตกต่างจากเกณฑ์ปกติในท้องถิ่นของเขา

คนที่แตกต่างกันในด้านวิถีเรียนรู้ วิถีตัดสินใจและวิถีแสดงพฤติกรรม มักมีปัญหาในด้านการฟังกันและกัน เป็นต้นว่า คนบางคนมีแนวโน้มที่จะฟังได้มากกว่าผู้อื่น ขณะเดียวกันก็มีบางคนที่มองอะไรได้ไวกว่า บ้างก็คิดได้ดีกว่า นี่หมายความว่า บางคนอาจจะมีวิธีเก็บข้อมูลได้ดีกว่า บุคคลอื่นด้วยวิธีการฟัง ส่วนคนอื่นอาจจะเก็บข้อมูลได้ดีจากวิธีการมอง บางบุคลิกลักษณะชอบสื่อสารและฟังข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงและมีรูปแบบชัดเจน แต่บางบุคลิกลักษณะ ก็ชอบข้อมูลที่เป็นส่วนตัวและมีหลักการกว้าง ๆ ท่านคงพบว่าปัญหาการฟังนั้น มีอยู่ชัดแจ้งในหมู่บุคคลที่มีลักษณะการส่งข้อมูลที่ต่าง ๆ กัน และบุคคลที่มีลักษณะการชอบข้อมูลต่าง ๆ กันด้วย คำตอบรับของผู้ฟังที่เผชิญกับผู้พูดที่มีลักษณะการส่งข้อมูลยาก จึงมักจะพาผู้พูดออกนอกทางหรือบิดเบือนสาระที่ฟัง ถ้าผู้ฟังตระหนักดีในวิถีการส่งข้อมูลว่ายากสำหรับตนที่จะฟัง ตนควรจะฝึกตนเองให้เพิ่มความตั้งใจฟัง และเพิ่มสมาธิให้สูงขึ้น เมื่อต้องเผชิญกับบุคคลที่มีบุคลิกลักษณะดังกล่าว ในโอกาสต่อไป

การขาดทักษะการฟัง อุปสรรคหนึ่งที่ง่ายต่อการเอาชนะได้ ซึ่งเป็นอุปสรรคที่ถูกเมินเฉยมากที่สุด คือการขาดทักษะการฟังซึ่งเป็นสิ่งเรียนรู้ได้ การที่จะขจัดอุปสรรคเหล่านี้ได้ ต้องเริ่มเป็นขั้น ๆ ด้วยการยอมรับและมีความรู้เกี่ยวกับอุปสรรคต่าง ๆ ที่ได้อภิปรายมาแล้วทั้งหมด เท่า ๆ กับมีแรงจูงใจที่จะเอาชนะมัน ขั้นต่อไปก็คือการใช้ทักษะการฟัง อย่างไรก็ตามวิธีที่ดีที่สุดเหนือวิธีอื่น ๆ ในการเอาชนะปัญหาการขาดทักษะการฟัง ก็คือ การเพิ่มแรงจูงใจในตัวท่านให้เป็นนักฟังที่ดีขึ้น เป็นขั้นเริ่มต้นที่สำคัญและเป็นความหวังว่าท่านจะดำเนินการปรับปรุง ทักษะการฟังของท่านให้ดีขึ้น เท่า ๆ กับทักษะการสื่อสารอื่น ๆ ของท่าน และจงปฏิบัติในสิ่งที่ท่านได้เรียนรู้ ด้วยสิ่งนี้เองย่อมจะช่วยท่านให้เอาชนะอุปสรรคจำนวนมากที่กีดกันมิให้การฟังของท่านมีประสิทธิภาพ และย่อมจะส่งผลให้ท่านเป็นนักสนทนาสื่อสารและนักบริหารที่ดีขึ้น